Abstract:
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบความผิดปกติของขากรรไกรในผู้ป่วยไทยทีมีโครงสร้างกะโหลกศีรษะแบบที่สอง และศึกษาอัตราการเกิดความผิดปกติแบบต่างๆ ในเพศชายและเพศหญิง รวมทั้งเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างเพศ กลุ่มตัวอย่างได้จากการคัดเลือกแบบเฉพาะเจาะจง จากผู้ที่มารับการรักษาทางทันตกรรมจัดฟัน ที่คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 100 คน (ชาย 50, หญิง 50 คน) อายุ 18-43 ปี มีค่ามุมเอเอ็นบีมากกว่าหรือเท่ากับ 6 องศา นำภาพรังสีกะโหลกศีรษะด้านข้างก่อนการรักษาของกลุ่มตัวอย่างมาลอกลาย วัดค่าเซฟาโลเมตริกที่แสดงลักษณะขากรรไกรบนและล่างในแนวหน้าหลัง ได้แก่ มุมเอสเอ็นเอ ความยาวขากรรไกรบน มุมแม็กซิลลารีเด็พ มุมเอสเอ็นบี ความยาวขากรรไกรล่าง มุมเฟเชียลเด็พ วัดค่าเซฟาโลเมตริกที่แสดงลักษณะในแนวดิ่งของโครงสร้างใบหน้าและขากรรไกร ได้แก่ มุมเฟเชียลแอ็กซิส มุมแฟรงค์ฟอร์ทแมนดิบูลาเพลน ความสูงใบหน้าส่วนล่าง ความสูงใบหน้าส่วนหลัง มุมแมนดิบูลาอาร์ค นำค่าที่วัดได้เทียบกับค่าปกติของคนไทยที่ใช้ในคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การวิเคราะห์ลักษณะโครงสร้างขากรรไกรบนและล่างในแนวหน้าหลัง จำแนกเป็นตำแหน่งถอยหลัง ตำแหน่งปกติ และตำแหน่งยื่นไปทางด้านหน้า โดยใช้การผ่านเกณฑ์สองในสามของวิธการวัด การวิเคราะห์ลักษณะโครงสร้างกะโหลกศีรษะในแนวดิ่งจำแนกเป็นโครงสร้างกะโหลกศีรษะแบบสบลึก แบบสบปกติ และแบบสบเปิด โดยใช้การผ่านเกณฑ์สามในห้าของวิธีการวัด หาอัตราการเกิดความผิดปกติของโครงสร้างกะโหลกศีรษะชนิดต่างๆ และเปรียบเทียบความสัมพันธ์ระหว่างเพศกับลักษณะโครงสร้างโดยใช้สถิติไคสแควร์ ผลการวิจัยพบว่ากลุ่มตัวอย่างมีโครงสร้างกระโหลกศีรษะในแนวหน้าหลังเป็นแบบ ขากรรไกรบนและขากรรไกรล่างอยู่ในตำแหน่งปกติมากที่สุดทั้งในเพศชายและเพศหญิง (ร้อยละ 44 และ 46 ตามลำดับ) ลักษณะที่พบมากเป็นลำดับสองในเพศชายคือขากรรไกรบนยื่นร่วมกับขากรรไกรล่างอยู่ในตำแหน่งปกติ (ร้อยละ 24) ในเพศหญิงคือขากรรไกรบนอยู่ในตำแหน่งปกติร่วมกับขากรรไกรล่างอยู่ในตำแหน่งถอยหลัง (ร้อยละ 26) ลักษณะในแนวดิ่งพบว่ากลุ่มตัวอย่างมีลักษณะโครงสร้างกะโหลกศีรษะแบบสบปกติเป็นจำนวนมากที่สุด (ร้อยละ 46) ซึ่งใกล้เคียงกันกับโครงกะโหลกศีรษะแบบสบเปิด (ร้อยละ 41) เมื่อพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างเพศกับลักษณะโครงสร้างกะโหลกศีรษะทั้งแนวหน้าหลังและแนวดิ่ง พบว่ามีความแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ