Abstract:
ที่มา: ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อผนังหัวใจช่วงล่างของเวนตริเคิลซ้ายขาดเลือดชนิดเอสทียก ถ้ามีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจเวนตริเคิลขวาขาดเลือดร่วม จะมีการพยากรณ์โรคที่ไม่ดี มีภาวะแทรกซ้อนทางด้านการไหลเวียนโลหิตและระบบไฟฟ้าหัวใจ ส่งผลต่อภาวะทุพพลภาพและการเสียชีวิตในโรงพยาบาล อย่างไรก็ตามผู้ป่วยส่วนใหญ่ของการศึกษาก่อนหน้านี้ได้รับการรักษาด้วยการให้ยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำและยังจำกัดการศึกษาในประชากรผิวขาว
วัตถุประสงค์: เพื่อเปรียบเทียบอัตราเสียชีวิตในโรงพยาบาลของผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อผนังหัวใจช่วงล่างของเวนตริเคิลซ้ายขาดเลือดชนิดเอสทียกซึ่งมีและไม่มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจเวนตริเคิลขวาขาดเลือดร่วมในผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยวิธีการฉีดสีและถ่างขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยการใช้บอลลูนขดลวด
วิธีการศึกษา: เป็นการวิจัยเชิงพรรณนา ศึกษาย้อนหลังในผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อผนังหัวใจช่วงล่างของเวนตริเคิลซ้ายขาดเลือดชนิดเอสทียกที่ได้รับการรักษาด้วยวิธีการฉีดสีและถ่างขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยการใช้บอลลูนขดลวดในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ตั้งแต่ 1 มกราคม 2550 - 31 ธันวาคม 2559
ผลการศึกษา: ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อผนังหัวใจช่วงล่างของเวนตริเคิลซ้ายขาดเลือดชนิดเอสทียกที่ได้รับการรักษาด้วยวิธีการฉีดสีและถ่างขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยการใช้บอลลูนขดลวดจำนวน 452 ราย มีผู้ป่วยที่มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจเวนตริเคิลขวาขาดเลือดร่วมจำนวน 99 ราย อัตราเสียชีวิตในโรงพยาบาลเท่ากับร้อยละ 23.2 สาเหตุหลักมาจากการเกิดภาวะหัวใจช็อค เทียบกับร้อยละ 5.1 ในผู้ป่วยที่ไม่มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจเวนตริเคิลขวาขาดเลือด (ค่าพีน้อยกว่า 0.001) ผู้ป่วยที่มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจเวนตริเคิลขวาขาดเลือดมีอุบัติการณ์ของการเกิดภาวะหัวใจช็อคมากกว่าอย่างมีนัยสำคัญ (ร้อยละ 48.5 เทียบกับร้อยละ 15.6, ค่าพีน้อยกว่า 0.001) สัดส่วนการบีบตัวของหัวใจเวนตริเคิลซ้ายน้อยกว่า (ร้อยละ 51.15 ± 17.27 เทียบกับร้อยละ 55.79 ± 12.46, ค่าพี 0.037) ภาวะการนำกระแสไฟฟ้าในหัวใจผิดปกติชนิดเอวีบล็อคสมบูรณ์ (ร้อยละ 33.3 เทียบกับร้อยละ 11.9 ค่าพีน้อยกว่า 0.001) และภาวะชนิดวีที (ร้อยละ 15.2 เทียบกับร้อยละ 5.9 ค่าพี 0.003) หลังจากนำตัวแปรอายุ เพศหญิง ภาวะหัวใจช็อค สัดส่วนการบีบตัวของหัวใจเวนตริเคิลซ้าย ภาวะชนิดวีที และภาวะการนำกระแสไฟฟ้าในหัวใจผิดปกติชนิดเอวีบล็อคสมบูรณ์มาปรับ พบว่าภาวะกล้ามเนื้อหัวใจเวนตริเคิลขวาขาดเลือดมีแนวโน้มที่จะเป็นตัวทำนายที่ไม่ดีสำหรับการตายในโรงพยาบาล (อัตราส่วนความเสี่ยงอันตรายที่ปรับแล้ว 1.96 ช่วงความเชื่อมั่นร้อยละ 95, 0.73 ถึง 5.23 ค่าพี 0.18) อย่างไรก็ตามมันเป็นตัวทำนายอิสระที่สำคัญสำหรับการตายที่ 1 ปี (อัตราส่วนความเสี่ยงอันตรายที่ปรับแล้ว 2.12 ช่วงความเชื่อมั่นร้อยละ 95, 1.03 ถึง 4.36 ค่าพี 0.041)
สรุปผล: ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อผนังหัวใจช่วงล่างของเวนตริเคิลซ้ายขาดเลือดชนิดเอสทียกซึ่งได้รับการรักษาโดยวิธีการฉีดสีและถ่างขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยการใช้บอลลูนขดลวด และมีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจเวนตริเคิลขวาขาดเลือดมีอัตราตายในโรงพยาบาลสูงกว่าเมื่อเทียบกับที่ไม่มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจเวนตริเคิลขวาขาดเลือด และภาวะกล้ามเนื้อหัวใจเวนตริเคิลขวาขาดเลือดมีแนวโน้มที่จะส่งผลที่ไม่ดีเกิดขึ้นตามมามากกว่าเมื่อเทียบกับไม่มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจเวนตริเคิลขวาขาดเลือด