Abstract:
ศึกษาผลของการให้อภัยและการผูกมัดระหว่างบุคคลต่อสุขภาวะทางจิต กลุ่มตัวอย่างเป็นนิสิตนักศึกษาระดับปริญญาตรีจากสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ จำนวน 240 คน ผู้วิจัยสุ่มผู้ร่วมการทดลองข้าสู่เงื่อนไขการทดลอง เงื่อนไขละ 60 คน โดยให้ผู้ร่วมการทดลองจินตนาการถึงความขัดแย้งแบบรุนแรง ที่เกิดขึ้นกับบุคคลที่มีการผูกมัดสูงหรือผูกมัดต่ำ แล้วให้ผู้ร่วมการทดลองตัดสินใจให้อภัยหรือไม่ให้อภัยบุคคลนั้น จากนั้นให้ผู้ร่วมการทดลองประเมินมาตรวัดสุขภาวะทางจิตที่ประกอบด้วย ความพึงพอใจในชีวิต ความรู้สึกทางบวก ความรู้สึกทางลบและภาวะการเห็นคุณค่าในตนเอง ผลการวิจัยพบว่า 1. ในเงื่อนไขการผูกมัดสูง การให้อภัยผู้กระทำผิดก่อให้เกิดความพึงพอใจในชีวิตและความรู้สึกทางบวกมากกว่า แต่มีความรู้สึกทางลบน้อยกว่าการไม่ให้อภัย (p<.001 สำหรับทุกตัวแปร) ในขณะที่ภาวะการเห็นคุณค่าในตนเองไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 2. ในเงื่อนไขการผูกมัดต่ำ การให้อภัยผู้กระทำผิดก่อให้เกิดความรู้สึกทางบวกมากกว่า (p<.001) แต่มีความรู้สึกทางลบ (p<.01) น้อยกว่าการไม่ให้อภัย ในขณะที่ความพึงพอใจในชีวิตและภาวะการเห็นคุณค่าในตนเอง ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 3. การให้อภัยผู้กระทำผิดที่มีการผูกมัดสูงก่อให้เกิดความรู้สึกทางลบ มากกว่าการให้อภัยผู้กระทำผิดที่มีการผูกมัดต่ำ (p<.001) ในขณะที่ความพึงพอใจในชีวิต ความรู้สึกทางบวกและภาวะการเห็นคุณค่าในตนเอง ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 4. การไม่ให้อภัยผู้กระทำผิดที่มีการผูกมัดสูง ก่อให้เกิดความพึงพอใจในชีวิต และความรู้สึกทางบวกน้อยกว่า แต่มีความรู้สึกทางลบมากกว่าการไม่ให้อภัยผู้กระทำผิดที่มีการผูกมัดต่ำ (p<.001 สำหรับทุกตัวแปร) ในขณะที่ภาวะการเห็นคุณค่าในตนเองไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 5. การให้อภัยก่อให้เกิดความพึงพอใจในชีวิต และความรู้สึกทางบวกมากกว่า แต่มีความรู้สึกทางลบน้อยกว่าการไม่ให้อภัย (p<.001 สำหรับทุกตัวแปร) ในขณะที่ภาวะการเห็นคุณค่าในตนเองไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ