Abstract:
การศึกษาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ในการศึกษาประสิทธิภาพตลาด (Market Efficiency) ของตลาดการซื้อขายทองคำล่วงหน้า (Gold Futures) และศึกษาพฤติกรรมของนักลงทุนรายย่อยที่มีความสนใจที่จะลงทุนในตลาดการซื้อขายทองคำล่วงหน้า โดยการศึกษาประสิทธิภาพตลาดฯ วิเคราะห์โดยใช้แบบจำลองต้นทุนการถือครอง (Cost of carry model) และใช้ข้อมูลทุติยภูมิของราคาทองคำ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 ถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2554 ในส่วนการศึกษาพฤติกรรมของนักลงทุนรายย่อยในตลาดฯ รวบรวมข้อมูลโดยใช้ข้อมูลปฐมภูมิ (Primary Data) จากกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นนักลงทุนรายย่อยจำนวนทั้งสิ้น 260 ราย และวิเคราะห์โดยใช้แบบจำลองโลจิตแบบสองทางเลือก (Binary logit model) ผลการศึกษาประสิทธิภาพของตลาดฯ พบว่า ตลาดการซื้อขายทองคำล่วงหน้าไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ เนื่องจากความถี่ของโอกาสที่นักลงทุนสามารถเข้ามาทำกำไรโดยปราศจากความเสี่ยง (Arbitrage) มีจำนวนมาก จากการทบทวนวรรณกรรมปริทัศน์ พบว่า ปริมาณการซื้อขาย (Trading volume) ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพของตลาดอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น ผู้ดูแลหรือกำกับตลาดควรมีนโยบายในการส่งเสริมการลงทุน ตลอดจนช่วยให้เกิดการไหลเวียนของข้อมูลข่าวสาร (Information flow) ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้ตลาดมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนั้น ผลการศึกษาพฤติกรรมของนักลงทุนรายย่อยในตลาดฯ พบว่า ปัจจัยที่ส่งผลต่อความน่าจะเป็นที่นักลงทุนจะเลือกลงทุนในตลาดฯ ประกอบด้วย การเลือกลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ ระดับการยอมรับความเสี่ยง ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับตลาดการซื้อขายทองคำล่วงหน้า ความสะดวกสบายของนักลงทุน และทัศนคติที่มีต่อการคาดหวังที่ได้รับจากการลงทุน ในขณะที่ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสนใจลงทุน สำหรับที่นักลงทุนที่ยังไม่เคยลงทุนในตลาดฯ ประกอบด้วย ระดับรายได้เฉลี่ย จำนวนสมาชิกในครอบครัวที่ไม่มีรายได้ ระดับการยอมรับความเสี่ยง ความรู้เบื้องต้นฯ และทัศนคติฯ โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อนักลงทุนมากที่สุด คือ ระดับการยอมรับความเสี่ยง ดังนั้น ผู้กำกับดูแลตลาดฯ ควรดำเนินนโยบายประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุนในตลาดฯ เพื่อเปลี่ยนแปลงทัศนคติของนักลงทุน และสามารถใช้ตลาดฯ เป็นเครื่องมือในการป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาทองคำ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการใช้ตลาดฯ ในการบริหารความเสี่ยงของกิจการได้อย่างมีประสิทธิภาพ