Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความยุติธรรมและการแปลงเปลี่ยนความขัดแย้งและเงื่อนไขที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างความยุติธรรมและการแปลงเปลี่ยนความขัดแย้งในทางทฤษฎีและเชิงประจักษ์ ผ่านเหตุการณ์ความรุนแรงคือ เหตุการณ์ตากใบ ที่มีลักษณะเป็นเหตุการณ์ความรุนแรงที่มีผลในเชิงแปลงเปลี่ยน (Transformative events) เป็นกรณีที่มีการถกเถียงเรื่องความยุติธรรมและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยรวมอย่างชัดเจน จึงสามารถชี้ให้เห็นรูปธรรมของความคิดและปฏิบัติการของความยุติธรรมและการแปลงเปลี่ยนความขัดแย้งได้ท่ามกลางความรุนแรงที่ยังดำเนินอยู่ โดยใช้วิธีวิจัยเชิงคุณภาพ เก็บข้อมูลจากเอกสาร และการสัมภาษณ์เชิงลึกกับผู้มีส่วนได้เสีย ผลการศึกษาพบว่า ความยุติธรรมที่มีผลในเชิงแปลงเปลี่ยนประกอบด้วย ความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ความยุติธรรมเชิงกฎหมายและความยุติธรรมเชิงโครงสร้างซึ่งมีความสัมพันธ์กันภายใต้เงื่อนไขด้านเวลาและบริบทของความขัดแย้ง ในกรณีเหตุการณ์ตากใบ ผู้เกี่ยวข้องยอมรับว่าความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์จะช่วยลดความขัดแย้งและรุนแรงที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ดี ผู้เกี่ยวข้องมีมุมมองต่อความยุติธรรม รวมทั้งมาตรการที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะเหยื่อและภาคประชาสังคมคาดหวังว่าความยุติธรรมเชิงกฎหมายและความยุติธรรมเชิงโครงสร้าง มีความสำคัญต่อการลดความรุนแรงในกรณีเหตุการณ์ตากใบและความขัดแย้งที่ยืดเยื้อในจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยรวม ดังนั้น กระบวนการฟื้นคืนความยุติธรรมจึงกลายเป็นกระบวนการต่อรองระหว่างฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ผลลัพธ์ก็คือความก้าวหน้าของการแปลงเปลี่ยนความขัดแย้งดูจะเกิดขึ้นเพียงบางส่วน บริบทเงื่อนไขสำคัญทางสังคมการเมืองที่กำหนดความยุติธรรมและการแปลงเปลี่ยนความขัดแย้งกรณีตากใบประกอบด้วย ความต่อเนื่องของความขัดแย้งรุนแรงและข้อจำกัดเชิงสถาบันการเมืองที่ผูกโยงกับความมั่นคงของรัฐและความไม่ไว้วางใจระหว่างรัฐกับประชาชน อย่างไรก็ดี เหตุการณ์ตากใบก็ส่งผลไปสู่การแปลงเปลี่ยนความขัดแย้ง ทั้งจากการปรับเปลี่ยนระดับนโยบายแก้ปัญหา การยอมรับอัตลักษณ์ในพื้นที่ รวมทั้งการเร่งสร้างความไว้วางใจในกระบวนการยุติธรรม