Abstract:
เปรียบเทียบผลของการทำไร้เชื้อ 2 วิธี คือการอบไอน้ำภายใต้ความดันและการฉายรังสีแกมมา ต่อการเปลี่ยนแปลงความหยาบเฉลี่ยพื้นผิวของโลหะผสมไทเทเทียมชนิด Ti-6AI-4V และการยึดเกาะของเซลล์ SaOS-2 บนพื้นผิวไทเทเนียมผสม การเตรียมพื้นผิวจะทำใน 2 ลักษณะ คือเตรียมพื้นผิวเรียบด้วยเครื่องขัดและกระดาษทรายซิลิกอนคาร์ไบด์ เบอร์ 320/P400 เป็นเวลา 2 นาที ตามด้วยเบอร์ 600/P1200 เป็นเวลา 2 นาที และเตรียมพื้นผิวหยาบด้วยการเป่าทรายชนิดอลูมิเนียมออกไซด์ขนาด 50 ไมครอน ผลการวัดค่าความหยาบเฉลี่ยพื้นผิว (Sa) กลุ่มพื้นผิวเรียบมีค่าเท่ากับ 0.0958+-0.0168 กลุ่มพื้นผิวหยาบมีค่าเท่ากับ 0.2885+-0.0426 หลังจากนั้นแบ่งวัสดุออกเป็น 2 กลุ่มเพื่อนำไปทำไร้เชื้อ 2 วิธี และนำกลับมาวัดค่า Sa หลังการทำไร้เชื้อ ผลการวัดค่าความหยาบเฉลี่ยพื้นผิวพบว่า ในกลุ่มพื้นผิวเรียบไม่พบการเปลี่ยนแปลงความหยาบเฉลี่ยพื้นผิวหลังการทำไร้เชื้อทั้ง 2 วิธี (p>=0.01) สำหรับในกลุ่มพื้นผิวหยาบพบว่า การอบไอน้ำภายใต้ความดัน ไม่ทำให้เกดการเปลี่ยนแปลงความหยาบเฉลี่ยพื้นผิวอย่างมีนัยสำคัญ (p>=0.01) แต่การฉายรังสีแกมมาทำให้เกิดการเพิ่มความหยาบเฉลี่ยพื้นผิวอย่างมีนัยสำคัญ (p>0.01) โดยค่า Sa ของกุล่มพื้นผิวหยาบหลังการฉายรังสีแกมมาเท่ากับ 0.3696+-0.0199 จากนั้นจึงนำวัสดุไปศึกษาผลต่อการยึดเกาะของเซลล์ที่เวลา 30 นาที พบว่าการทำไร้เชื้อทั้ง 2 วิธี ทำให้เกิดการยึดเกาะของเซลล์ไม่แตกต่างกันทั้งพื้นผิวเรียบและพื้นผิวหยาบ (p>=0.01 และ 0.05) แต่พบว่าพื้นผิวที่แตกต่างกันทำให้เกิดการยึดเกาะของเซลล์แตกต่างกันคือ พื้นผิวหยาบมีการยึดเกาะของเซลล์มากกว่าพื้นผิวเรียบ (p>0.05) ผลการศึกษาครั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงความหยาบเฉลี่ยพื้นผิวหลังการฉายรังสีแกมมา ไม่มีผลต่อการยึดเกาะของเซลล์ ในขณะที่การอบไอน้ำภายใต้ความดัน ไม่มีผลต่อทั้งความหยาบเฉลี่ยพื้นผิวและการยึดเกาะของเซลล์ ซึ่งน่าจะสะท้อนว่าการทำไร้เชื้อทั้ง 2 วิธี สามารถนำมาปรับใช้ในการทำไร้เชื้อของโลหะผสมไทเทเนียม เพื่อการใช้งานทางทันตกรรมได้