Abstract:
ยังไม่เป็นที่ยอมรับว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สัมพันธ์กับการเกิดโรคฟันผุในเด็กปฐมวัย อีกทั้งยังไม่มีการศึกษาอย่างกว้างขวางถึงความสัมพันธ์ของความสะอาดของฟันเด็กและโรคฟันผุในเด็กกลุ่มที่เลี้ยงด้วยนมแม่ การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่กับโรคฟันผุในเด็กปฐมวัย โดยศึกษาในเด็กอายุ 9-18 เดือน ที่เลี้ยงด้วยนมแม่อย่างเดียว ในคลินิกสุขภาพเด็กดี สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ตั้งแต่ 1 ต.ค. 2554 ถึง 31 ต.ค. 2555 โดยสัมภาษณ์ผู้เลี้ยงดูเด็กถึงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ และตรวจหาระดับคราบจุลินทรีย์สะสมที่ฟันกับรอยโรคฟันผุ ผลการวิจัย มีเด็กเข้าร่วมการศึกษา จำนวน 513 คน พบความชุกของโรคฟันผุในเด็กกลุ่มที่เลี้ยงด้วยนมแม่อย่างเดียวเป็นร้อยละ 42.50 และเมื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ กับโรคฟันผุแบบพหุปัจจัย พบปัจจัยที่เพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคฟันผุ ได้แก่ เด็กที่มีคราบจุลินทรีย์สะสมมากกว่า 1 ใน 3 ของตัวฟัน มีโอกาสเสี่ยงเป็น 59.19 เท่า อายุเด็กที่เริ่มทำความสะอาดช่องปากช้า มีโอกาสเสี่ยงเป็น 7.34 เท่า การดูดนมแม่คาเต้าหรือคาขวดหลับกลางคืนมีโอกาสเสี่ยงเป็น 3.26 เท่า การดูดนมแม่ได้บ่อยเท่าที่ต้องการมีโอกาสเสี่ยง 2.09 เท่าและเด็กที่อายุมากขึ้นทุก 1 เดือน จะเสี่ยงต่อโรคฟันผุเริ่มขึ้น ร้อยละ 8 โดยที่ปริมาณคราบจุลินทรีย์สะสม และการดูดนมแม่คาเต้าหรือคาขวดหลับกลางคืน สัมพันธ์กับดัชนีฟันผุถอนอุดเป็นด้าน และคราบจุลินทรีย์สะสมเพียงปัจจัยเดียวเท่านั้นที่สัมพันธ์กับค่าความเข้มของโรคฟันผุในเด็กปฐมวัย โดยปริมาณคราบจุลินทรีย์สะสมเป็นปัจจัยเสี่ยงบ่งชี้ที่สัมพันธ์ต่อโรคฟันผุมากที่สุดแม้จะมีหรือไม่มีพฤติกรรมการเลี้ยงดูที่เสี่ยงร่วมด้วย ในเด็กกลุ่มที่เลี้ยงด้วยนมแม่อย่างเดียว มีหลายปัจจัยที่เพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคฟันผุ แต่คราบจุลินทรีย์สะสมมากกว่า 1 ใน 3 ของตัวฟันเป็นปัจจัยเสี่ยงที่มีความสัมพันธ์สูงสุดการสอนให้แม่ทำความสะอาดฟันให้เด็กอย่างมีประสิทธิภาพเป็นปัจจัยที่สำคัญในการสร้างเสริมสุขภาพช่องปากที่ดีของลูก