Abstract:
ประเมินผลวิธีการกำจัดซีเมนต์ชั่วคราว 5 วิธี (เป่าผงอะลูมินัมออกไซด์ขนาด 50 ไมครอน เป่าเม็ดแก้วขนาด 50 ไมครอน แช่สารละลายกำจัดซีเมนต์รีมูฟเวลอนวัน แช่สารละลายกำจัดซีเมนต์แอลแอนด์อาร์ และเช็ดด้วยส่วนเหลวอะคริลิกเรซินชนิดบ่มตัวด้วยปฏิกิริยาเคมี) เพื่อกำจัดซีเมนต์ชั่วคราว 3 ชนิด (ซิงค์ออกไซด์ยูจีนอลซีเมนต์ ซิงค์ออกไซด์ซีเมนต์ที่ไม่ยูจีนอล และแคลเซียมไฮดรอกไซด์) วัดความแข็งแรงของแรงยึดเฉือนระหว่างเรซินซีเมนต์กับโลหะหล่อผสมนิกเกิล-โครเมียม โดยเหวี่ยงโลหะหล่อผสมเป็นรูปทรงกระบอกเส้นผ่าศูนย์กลาง 7 มิลลิเมตรและ 9 มิลลิเมตร จำนวน 80 คู่ และแบ่งเป็น 16 กลุ่ม หลังกำจัดซีเมนต์ชั่วคราวด้วยวิธีต่างๆ สุ่มชิ้นโลหะหล่อผสมเส้นผ่านศูนย์กลาง 7 มิลลิเมตรจากแต่ละกลุ่มวิเคราะห์ด้วยเครื่องเอกซเรย์สเปคโตรสโคปีแบบกระจายพลังงาน เพื่อตรวจองค์ประกอบของธาตุบนพื้นผิวที่เปลี่ยนแปลงไป จากนั้นนำชิ้นโลหะหล่อผสมทั้งหมดยึดดวยเรซินซีเมนต์ และแช่น้ำกลั่นในอ่างควบคุมอุณหภูมิที่ 37 องศาเซลเซียส 24 ชั่วโมง ทดสอบความแข็งแรงของแรงยึดเฉือนด้วยเครื่องทดสอบสากล และศึกษาลักษณะการแตกหักของเรซินซีเมนต์และโลหะผสมด้วยเครื่องสเตอริโอไมโครสโคป นำชิ้นโลหะหล่อผสมมาเตรียมพื้นผิวเพื่อทำซ้ำดังการทดสอบข้างต้น เพื่อให้ได้ค่าความแข็งแรงของแรงยึดเฉือน 20 ค่าในแต่ละกลุ่ม ใช้การวิเคราะห์ความแปรปรวนสองทาง แล้วเปรียบเทียบเชิงซ้อนด้วยวิธีแทมเฮน ที่ระดับนัยสำคัญ 0.05 พบว่า การเป๋าผงอะลูมินัมออกไซด์อนุภาค 50 ไมครอน เพื่อกำจัดซิงค์ออกไซด์ยูจีนอลซีเมนต์ส่งผลให้ค่าความแข็งแรงของแรงยึดเฉือน สูงกว่าการเช็ดด้วยส่วนเหลวอะคริลิกเรซินชนิดบ่มตัวด้วยปฏิกิริยาเคมี และเมื่อกำจัดซิงค์ออกไซด์ซีเมนต์ที่ไม่ยูจีนอล ค่าความแข็งแรงของแรงยึดเฉือนหลังการเป่าผงอะลูมินัมออกไซด์อนุภาค 50 ไมครอนสูงกว่าการแช่สารละลายกำจัดซีเมนต์รีมูฟเวลอนวันอย่างมีนัยสำคัญ หลังกำจัดแคลเซียมไฮดรอกไซด์ การเป่าผงอะลูมินัมออกไซด์อนุภาค50 ไมครอน เม็ดแก้วอนุภาค 50 ไมครอน และแช่สารละลายกำจัดซีเมนต์แอลแอนด์อาร์ ให้ค่าความแข็งแรงของแรงยึดเฉือนเฉลี่ยสูงกว่าการแช่สารละลายกำจัดซีเมนต์รีมูฟเวลอนวัน และการเช็ดด้วยส่วนเหลวอะคริลิกเรซินชนิดบ่มตัวด้วยปฏิกิริยาเคมีอย่างมีนัยสำคัญ