Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์สามประการ ประการแรก คือ ศึกษาประสบการณ์นโยบายที่อยู่อาศัยในต่างประเทศด้านการกระจายอำนาจและรวมศูนย์อำนาจการจัดสวัสดิการ ตลอดจนวิธีการอุดหนุนทางอุปทานและอุปสงค์ในที่อยู่อาศัย เพื่อนำมาประกอบการวิเคราะห์นโยบายที่อยู่อาศัยในประเทศไทย ประการที่สอง ศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิผลของการดำเนินงานโครงการบ้านเอื้ออาทร กับ โครงการบ้านมั่นคง โดยวิเคราะห์จากเอกสารทุติยภูมิที่ปรากฏ ประการที่สาม ศึกษาการปรับตัวของผู้อยู่อาศัยในโครงการฯ ในแง่ของการรักษาสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยและการดูแลสภาพแวดล้อมในโครงการ โดยวิเคราะห์จากการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้รับสวัสดิการโครงการบ้านเอื้ออาทรบางโฉลงและโครงการบ้านมั่นคงบ่อนไก่ กรุงเทพฯ จำนวน 10 ตัวอย่าง ผลการศึกษา พบว่าโครงการบ้านเอื้ออาทรและโครงการบ้านมั่นคงสามารถตอบสนองอุปสงค์ต่อที่อยู่อาศัยให้แก่ผู้มีรายได้น้อยในเมืองได้ในจำนวนที่ไม่มากนัก เนื่องด้วยโครงการบ้านเอื้ออาทรที่รวมศูนย์อำนาจมีปัญหาในการจัดอุปทานที่อยู่อาศัยที่ขาดความหลากหลายไม่ตรงต่อความต้องการของผู้มีรายได้น้อย อีกทั้งรัฐบาลยังประยุกต์ใช้มาตรการกึ่งการคลังอย่างไม่เหมาะสมทำให้การผลิตอุปทานในที่อยู่อาศัยไม่มีประสิทธิภาพ และในขณะเดียวกันโครงการบ้านมั่นคงที่กระจายอำนาจพบว่ามีขั้นตอนดำเนินงานที่ยืดยาว ทำให้ประสบกับปัญหาจากความไม่ประหยัดต่อเวลาในการผลิตอุปทาน สำหรับการปรับตัวของผู้รับสวัสดิการ พบว่า ผู้อยู่อาศัยในโครงการบ้านมั่นคงได้รับประโยชน์ด้านการรักษาสิทธิ์ในที่อยู่อาศัย โดยสหกรณ์เคหสถานเป็นผู้จัดบริการสินเชื่ออย่างยืดหยุ่นตรงกับกระแสรายได้ของผู้รับสวัสดิการ รวมถึงได้รับการส่งเสริมให้เกิดการทดลองสร้างนวัตกรรมเพื่อรับมือกับภาวะเสี่ยงภัยทางศีลธรรม ซึ่งตรงกันข้ามกับกรณีผู้อาศัยในโครงการบ้านเอื้ออาทรที่รวมศูนย์อำนาจที่ไม่ได้รับประโยชน์จากสวัสดิการในส่วนนี้ นอกจากนั้นผู้รับสวัสดิการทั้งสองโครงการต่างพยายามใช้ทุนทางสังคมในการดูแลสภาพแวดล้อมในโครงการของตนเอง จากผลการศึกษาสรุปได้ว่าการดำเนินนโยบายกระจายความเป็นเจ้าของในที่อยู่อาศัยแก่ผู้มีรายได้น้อยควรมีการสร้างช่องทางพิเศษในการอุดหนุนสินเชื่อและควรมีการพัฒนาวิธีการอุดหนุนด้านการเช่าควบคู่กันไปด้วย