Abstract:
ศึกษาผลของการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิและแรงเชิงกลต่อคุณภาพของพันธะการยึดติดระหว่างไททาเนียมกับเนื้อฟัน เมื่อเลือกใช้ซีเมนต์เรซินและสารปรับสภาพผิวโลหะต่างชนิด วัสดุและวิธีการ แบ่งกลุ่มวัสดุออกเป็น 4 กลุ่ม โดยเลือกใช้ซีเมนต์เรซินหนึ่งจากสองชนิด ได้แก่ ซูเปอร์บอนด์ซีแอนด์บีและพานาเวียร์เอฟ 2.0 ร่วมกับการเลือกใช้สารปรับสภาพผิวโลหะหนึ่งจากสองชนิด ได้แก่ เมทาฟาสท์บอนดิ้งไลเนอร์ และอัลลอยไพร์เมอร์ นำมาทดสอบคุณภาพการยึดติดด้วยการทดสอบสองวิธี ได้แก่ การทดสอบความแข็งแรงล้าต่อแรงดัด โดยการทดสอบการดัดขวางแบบสามจุดภายใต้เทอร์โมไซคลิง (5-55 องศาเซลเซียส, 5000 รอบ) และการทดสอบการแทรกซึมของสีย้อม (สารละลายเบสิกฟุสชิน) ภายใต้กระบวนการเทอร์โมไซคลิง และการเปลี่ยนแปลงแรงเชิงกล (6 นิวตัน 2 รอบต่อวินาที 20,000 รอบ) ผลการศึกษา กลุ่มควบคุมซูเปอร์บอนด์ซีแอนด์บี/อัลลอยไพร์เมอร์ให้จำนวนรอบที่ทนต่อการแตกหักมากที่สุด และมีระยะทางการแทรกซึมของสีย้อมน้อยที่สุด นำผลมาวิเคราะห์ทางสถิติด้วยการวิเคราะห์ความแปรปรวน 3 ทาง ที่ระดับความเชื่อมั่น 95% พบว่า การเลือกใช้ซีเมนต์และเทอร์โมไซคลิงส่งผลต่อความล้าต่อแรงดัด และการเลือกใช้ซีเมนต์และเทอร์โมไซคลิงกับการเปลี่ยนแปลงแรงเชิงกล ส่งผลต่อการรั่วซึมของรอยต่อระหว่างไททาเนียมกับซีเมนต์กับเนื้อฟัน นอกจากนี้ ยังพบอิทธิพลร่วมของการเลือกใช้ซีเมนต์กับเทอร์โมไซคลิงกับการเปลี่ยนแปลงแรงเชิงกล ส่งผลต่อการรั่วซึมของรอยต่อ สรุป เมื่อยึดไททาเนียมกับเนื้อฟัน กระบวนการเร่งอายุโดยเทอร์โมไซคลิงลดคุณภาพของการยึดติด การเลือกใช้สารปรับสภาพผิวโลหะต่างชนิดไม่ส่งผลต่อคุณภาพของการยึดติด และซูเปอร์บอนด์ ซีแอนด์บีให้การยึดติดที่มีคุณภาพดีกว่าพานาเวียร์เอฟ 2.0