Abstract:
การตรวจสอบการปนเปื้อนของแบคทีเรียก่อโรคเป็นข้อกำหนดตามมาตรฐานอาหารสากลซึ่งมีจำนวนกลุ่มของแบคทีเรียจำกัด และอีกทั้งยังไม่มีการศึกษาในสัตว์น้ำที่พบเฉพาะถิ่น งานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจสอบการปนเปื้อนของแบคทีเรียก่อโรค 5 กลุ่ม ได้แก่ Escherichia coli/coliform, Salmonella spp., Vibrio spp., Clostridium spp. และ Bacillus spp. ซึ่งการตรวจแบคทีเรียกลุ่ม Clostridium spp. และ Bacillus spp. เป็นการตรวจเพิ่มขึ้นจากเกณฑ์มาตรฐาน โดยตรวจสอบในหอยกัน (Polymesoda bengalensis) จำนวน 6 ตัวอย่าง ที่เก็บจากคลองควาย อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ในฤดูร้อนและฤดูฝน พ.ศ. 2561 ด้วยวิธีคัดแยกเชื้อและระบุชนิดโดยวิเคราะห์ลำดับนิวคลีโอไทด์ของยีน 16S rDNA ร่วมกับการทดสอบคุณสมบัติทางชีวเคมี ผลการศึกษาพบการปนเปื้อนของ coliform ในตัวอย่างหอยกันจากฤดูร้อนมากกว่าฤดูฝน โดยพบจำนวนเฉลี่ย 6.7x10⁴ และ 4.1x10⁴ CFU/ml ตามลำดับ อีกทั้งพบการปนเปื้อนของ Bacillus cereus ในตัวอย่างหอยกันจากฤดูร้อนมากกว่าฤดูฝน โดยพบจำนวนเฉลี่ย 6.7x10³ และ 40 CFU/ml ตามลำดับ นอกจากนี้พบการปนเปื้อนของเชื้อ Clostridium sp. ในตัวอย่างหอยกันจากฤดูฝนจำนวนเฉลี่ยมากกว่า 1.6x10³ MPN/ml จากการตรวจสอบพบการปนเปื้อนของแบคทีเรียก่อโรคได้แก่ Shewanella algae, Clostridium sp., B. cereus, Aeromonas allosaccharophila, Enterococcus sp. และ Rahnella aquatilis ซึ่ง ตรวจเพิ่มเติมจากข้อระบุในเกณฑ์คุณภาพทางจุลชีววิทยาของอาหารทะเลที่บริโภคดิบ โดยสรุป การตรวจสอบแบคทีเรียตามเกณฑ์มาตรฐานปัจจุบันไม่ครอบคลุมถึงแบคทีเรียกลุ่มอื่นที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภค และจากการพบการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียก่อโรคหลายชนิดในหอยกัน ผู้บริโภคจึงควรหลีกเลี่ยงการบริโภคหอยกันที่ยังไม่ผ่านการปรุงสุก