Abstract:
การวิจัยนี้ทำการศึกษาผลกระทบของมอนต์มอริลโลไนต์คอลลอยด์ต่อการเคลื่อนตัวของแคดเมียม โดยทดลองในคอลัมน์ที่บรรจุทรายอิ่มตัวซึ่งจำลองภายใต้การไหลภายใต้ชั้นน้ำบาดาลมีแรงดัน การทดลองแบบคอลัมน์ใช้แคดเมียมที่ความเข้มข้น 10 มิลลิกรัมต่อลิตร ผสมกับมอนต์มอริลโลในต์คอลลอยด์ความเข้มข้น 100 มิลลิกรัมต่อลิตร กำหนดความเร็วการไหลเท่ากับ 0.159 เซนติเมตรต่อนาที โดยการทดลองแบบคอลัมน์ทำภายใต้ที่ค่าพีเอชที่แตกต่างกัน (พีเอช 3 6 และ 8) จากการทดลองพบว่า เมื่อค่าพีเอชเพิ่มขึ้นจากพีเอช 3 เป็นพีเอช 8 ทำให้มอนต์มอริลโลไนต์คอลลอยด์มีประจุที่พื้นผิวเป็นลบมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการดูดติดประจุบวกของแคดเมียมได้มากขึ้น ดังนั้นปริมาณแคดเมียมที่เคลื่อนที่ผ่านคอลัมน์จึงเพิ่มขึ้นจาก 1.67 มิลลิกรัม เป็น 1.89 มิลลิกรัม คิดเป็นร้อยละ 11.64 สำหรับค่าตัวประกอบความหน่วงของแคดเมียมพบว่ามีค่าลดลงจาก 3.71 เป็น 2.83 (ลดลงร้อยละ 23.62), 4.41 เป็น 3.07 (ลดลงร้อยละ 30.33) และ 5.51 เป็น 3.43 (ลดลงร้อยละ 37.83) ซึ่งทำให้มีค่าความเร็วการเคลื่อนที่ของแคดเมียมเพิ่มขึ้นภายใต้ค่าพีเอช 3 6 และ 8 ตามลำดับ เนื่องจากผลของการมีมอนต์มอริลโลในต์คอลลอยด์ในระบบการไหล ดังนั้นมอนต์มอริลโลไนต์คอลลอยด์ช่วยส่งเสริมการเคลื่อนที่ของแคดเมียมภายใต้สภาวะที่มีค่าพีเอชที่สูงอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนี้ผลการศึกษาพบว่าเมื่อค่าพีเอชสูงขึ้นมอนต์มอริลโลไนต์คอลลอยด์ที่เคลื่อนที่ออกมาจากคอลัมน์เพิ่มขึ้นจาก 10.59 มิลลิกรัม เป็น 13.40 มิลลิกรัม เมื่อค่าพีเอชเพิ่มขึ้นจากพีเอช 3 ไปเป็นพีเอช 8 เนื่องจากค่าพีเอชที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้อนุภาคของมอนต์มอริลโลไนต์คอลลอยด์มีขนาดเล็กลง (ลดลงจาก 487.00 นาโนเมตรเป็น 190.80 นาโนเมตร) และประจุบนผิวของอนุภาคของมอนต์มอริลโลไนต์คอลลอยด์มีค่าลดลงจาก -6.56 มิลลิโวลล์เป็น -13.10 มิลลิโวลล์ เมื่อค่าพีเอชเพิ่มขึ้นจากพีเอช 3 ไปเป็นพีเอช 8 ตามลำดับ และจากผลการวิเคราะห์ SEM พบอนุภาคมอนต์มอริลโลไนต์คอลลอยด์เกาะที่พื้นผิวทรายหลังจากให้มอนต์มอริลโลไนต์คอลลอยด์และแคดเมียมไหลผ่าน และพบธาตุเหล่านี้: อลูมิเนียม โซเดียม ซิลิกอน และออกซิเจน ซึ่งเป็นองค์ประกอบของแร่มอนต์มอริลโลไนต์