Abstract:
ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO₂) ที่ได้จากกระบวนการเผาไหม้ เป็นหนึ่งในก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นสาเหตุหลักของปัญหาภาวะโลกร้อน ในปัจจุบันจึงได้มีการนำเทคโนโลยีการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาช่วยลดปัญหาดังกล่าว โดยงานวิจัยนี้เป็นการศึกษาต่อยอดจากระบบการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของหน่วยปฏิบัติการฟลูอิไดซ์เบดแบบหมุนเวียน (Circulation Fluidized Bed) ในฝั่งไรเซอร์ (Riser) กล่าวคือ ฝั่งดาวเนอร์ (Downer) ของหน่วยปฏิบัติการฟลูอิไดซ์เบดแบบหมุนเวียน (Circulation Fluidized Bed) ได้ถูกออกแบบและจัดสร้างขึ้นใหม่เพื่อหาสภาวะที่เหมาะสมในการฟื้นฟูตัวดูดซับที่ผ่านการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการเผาไหม้จนเป็นโซเดียมไบคาร์บอเนต (NaHCO₃) อีกทั้งศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อพฤติกรรมและประสิทธิภาพในการคายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากตัวดูดซับโซเดียมคาร์บอเนต (Na₂CO₃) ให้สามารถนำตัวดูดซับกลับไปใช้ใหม่ได้ การดำเนินงานวิจัยในระบบนี้ใช้โซเดียมไบคาร์บอเนต (NaHCO3) ชนิดสำเร็จรูปเป็นสารตั้งต้น และจากงานวิจัยอ้างอิง ได้เลือกศึกษาผลของความดันเริ่มต้นในระบบที่ -0.67, -0.40 และ -0.13 barg และผลของอุณหภูมิการฟื้นฟูตัวดูดซับที่ 100 °C, 110 °C และ 120 °C ในระบบการทดลองแบบกะ (Batch system) ซึ่งพบว่า ที่สภาวะความดันเริ่มต้นที่ต่ำกว่าบรรยากาศมาก (-0.67 barg) และอุณหภูมิสูง (120 °C) จะสามารถคายซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากตัวดูดซับได้ 34.85% โดยน้ำหนัก ซึ่งมากกว่าที่สภาวะความดันเริ่มต้นที่ต่ำกว่าบรรยากาศน้อยกว่า (-0.13 barg) และอุณหภูมิต่ำกว่า (100 °C) ซึ่งสามารถคายซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากตัวดูดซับได้เพียง 5.69% โดยน้ำหนัก