Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีจุดประสงค์ในการที่จะศึกษาและเปรียบเทียบวรรณกรรมคำสอนสตรีของไทยกับเกาหลี 4 เรื่อง ได้แก่ กฤษณาสอนน้องคำฉันท์ พระนิพนธ์ของสมเด็จพระสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรสสุภาษิตสอนสตรี ของสุนทรภู่ แนฮุน (内訓 แปลว่าคำสอนสตรี) พระราชนิพนธ์ของพระราชินีโซเฮ (昭惠王后) และ เกเปียซอ (戒女書 แปลว่าตำราสอนกุลธิดา)ของ ชง ซี ยอล (宋時烈) เพื่อศึกษาเปรียบเทียบในแง่ที่มาของเรื่อง เนื้อหา และกลวิธีการประพันธ์ และเพื่อวิเคราะห์ภาพลักษณ์สตรี คำนิยมเกี่ยวกับสตรี และสตรีในอุดมคติที่ปรากฏในวรรณกรรมคำสอนสตรีดังกล่าว จากการศึกษาเปรียบเทียบคำสอนในวรรณกรรมคำสอนสตรีดังกล่าว พบว่าภาพลักษณ์ของสตรีในอุดมคติของไทยในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น จะต้องเป็นผู้ที่รู้จักประมาณตนเอง เป็นผู้ที่งดงามทั้งกิริยาวาจา รู้จักการครองตน เป็นลูกที่ดีของบิดามารดา เป็นภรรยาที่ดีของสามี และเป็นแม่บ้านที่ดี ส่วนภาพลักษณ์ของสตรีในอุดมคติของเกาหลีในสมัยราชวงศ์โซซอน จะต้องเป็นผู้ที่สุภาพเรียบร้อยทั้งกายและจิตใจ เป็นลูกที่ดีของพ่อแม่โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้องเป็นลูกสะใภ้ที่ดีต่อบิดามารดาของสามี เป็นกรรยาที่ดี เชื่อฟังและเคารพสามี เป็นผู้ที่สร้างไมตรีกับญาติพี่น้องของสามี เป็นมารดาที่ดี และเป็นผู้ที่มีความสามารถด้านการเรือน จากการเปรียบเทียบคุณสมบัติและหน้าที่ของสตรีในอุดมคติของทั้งสองประเทศ พบลักษณะร่วมของค่านิยมเกี่ยวกับสตรีในอุดมคติของไทยและเกาหลี 4 ประการ คือ ความเป็นช้างเท้าหลัง ความเป็นกุลสตรี ความรักเดียวใจเดียว และความเป็นแม่ศรีเรือน แม้ว่ามีการเน้นบทบาทของสตรีแต่ละบทบาทต่างกันเล็กน้อย หรือการแสดงออกทางการกระทำที่ไม่เหมือนกันบ้าง เนื่องจากความแตกต่างด้านภูมิหลังลังคมและวัฒนธรรม แต่ความคาดหมายของทั้งสองลังคมที่มีต่อสตรีเหมือนกัน กล่าวคือ สตรีต้องรักนวลสงวนตัว รักษาพรหมจรรย์จนถึงวันแต่งงาน หลังจากแต่งงานแล้ว ต้องจงรักภักดีต่อสามีผู้เดียวและปรนนิบัติสามี รับผิดชอบงานบ้าน เลี้ยงและอบรมสั่งสอนบุตร กตัญณูกตเวทีต่อบิดามารดา และระมัดระวังกิริยามารยาท