Abstract:
ปัจจุบันพลังงานทางเลือกถูกใช้เพื่อทดแทนแหล่งพลังงานหลัก ซึ่งหนึ่งในพลังงานทางเลือกนั้น คือกระบวนการไฮโดรเทอร์มัลลิควิแฟกชันที่ให้ร้อยละผลได้ของน้ำมันดิบชีวภาพสูง โดยกระบวนการไฮโดรเทอร์มัลลิควิแฟกชันเป็นเทคโนโลยีทางเลือกของการใช้ประโยชน์จากชีวมวลชนิดต่าง ๆ เพื่อผลิตเชื้อเพลิงที่เกี่ยวข้องกับการแปลงชีวมวลโดยตรงเป็นเชื้อเพลิงเหลว โดยเป็นการกระบวนการที่สภาวะน้ำร้อนอัดความดันในเวลาที่เพียงพอที่จะทำลายโครงสร้างของแข็งชีวภาพให้อยู่ในรูปของเหลวเป็นส่วนใหญ่ งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลกระทบของชาร์จากชีวมวลต่อการผลิตน้ำมันดิบชีวภาพจากไฮโดรเทอร์มัลลิควิแฟกชัน โดยตัวแปรที่ใช้ในการศึกษาในการวิจัยนี้ได้แก่ ชนิดของชีวมวล (ชานอ้อยและเหง้ามันสำปะหลัง) ชนิดของชาร์ (ชาร์สาหร่ายพุงชะโดและชาร์ไม้ไผ่) อุณหภูมิ (300 และ 350 องศาเซลเซียส) และตัวทำละลายเดี่ยว (น้ำปราศจากไอออนและเอทานอล) โดยเมื่อพิจารณาที่อุณหภูมิ 350 องศาเซลเซียส พบว่าน้ำมันที่ได้จากชาร์ไม้ไผ่ผสมชานอ้อยให้ค่าร้อยละผลได้สูงสุด รองลงมา คือ ชาร์สาหร่ายพุงชะโดผสมชานอ้อย ซึ่งมีค่าเท่ากับร้อยละ 70.86 และ 39.29 ตามลำดับ โดยเป็นค่าที่มากกว่าค่าทำนายของการผสมชีวมวลกับชาร์ ซึ่งแสดงว่าการใส่ชาร์สาหร่ายพุงชะโดเข้าไปช่วยเพิ่มร้อยละผลได้น้ำมันดิบชีวภาพให้มากขึ้น