Abstract:
ไมยราบยักษ์เป็นวัชพืชรุกรานต่างถิ่นที่มีความรุนแรง เนื่องจากสามารถเติบโตแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว จัดเป็นวัชพืชที่ไม่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยไมยราบยักษ์มีปริมาณเฮมิเซลลูโลสที่มีไซแลนเป็นองค์ประกอบหลักประมาณร้อยละ 17 จึงเป็นที่น่าสนใจในการนำมาใช้ประโยชน์ งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาภาวะที่เหมาะสมในการสกัดไซแลนจากลำต้นไมยราบยักษ์ด้วยโซเดียมไฮดรอกไซด์ จากการศึกษาปัจจัยที่สำคัญในการสกัดได้แก่ สัดส่วนของไมยราบยักษ์ต่อสารละลายโซเดียมไฮดรอกไซด์ (0.5:10, 1:10 และ 1.5:10 โดยมวลต่อปริมาตร) ความเข้มข้นสารละลายโซเดียมไฮดรอกไซด์ร้อยละ (10, 30, และ 50) และเวลาในการสกัด (15, 50 และ 85 นาที) ที่ความดัน 15 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว อุณหภูมิ 121 องศาเซลเซียส โดยออกแบบการทดลอง Box-Behnken Design แล้วนำมาวิเคราะห์ผลเพื่อหาภาวะที่เหมาะสมในการสกัดไซแลนจากไมยราบยักษ์ด้วยวิธี Response Surface Methodology (RSM) ซึ่งภาวะที่เหมาะสมในการสกัดไซแลนได้สูงสุดคือสัดส่วนไมยราบยักษ์ต่อสารละลายโซเดียมไฮดรอกไซด์ 0.5:10 โดยมวลต่อปริมาตร ที่ความเข้มข้นของสารละลายโซเดียมไฮดรอกไซด์ร้อยละ 50 เป็นเวลา 85 นาที จึงวิเคราะห์หมู่ฟังก์ชันของไซแลนที่ได้ด้วยวิธี Fourier-transform infrared spectroscopy (FTIR) เมื่อนำสารสกัดไซแลนที่ได้มาเข้าสู่กระบวนการหาภาวะที่เหมาะสมในการย่อยไซแลนให้เป็นน้ำตาลไซโลสด้วยเอนไซม์ไซแลเนสที่ผลิตจากรา Aureobasidium pullulans จากการศึกษาปัจจัยที่สำคัญในการย่อยได้แก่ ปริมาณเอนไซม์เอนโดไซแลเนส (10, 20 และ 30 U/g xylan) และบีตา-ไซโลซิเดส (10, 20 และ 30 U/g xylan) ที่อุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส เป็นเวลา (3, 9 และ 15 ชั่วโมง) และนำไปวิเคราะห์เพื่อหาปริมาณน้ำตาลไซโลสด้วยวิธี 3,5 - dinitrosalicylic acid method (DNS method) พบว่าได้น้ำตาลไซโลสสูงสุด 4.6 มิลลิกรัมต่อกรัมไซแลนที่ภาวะมีปริมาณเอนโดไซแลเนส 28.90 ยูนิตต่อกรัมไซแลน และบีตา-ไซโลซิเดส 29.97 ยูนิตต่อกรัมไซแลน