Abstract:
เอคโตไมคอร์ไรซา (ectomycorrhiza) เป็นความสัมพันธ์แบบภาวะพึ่งพากันของรากับรากของพืชอาศัย เช่น ไม้วงศ์ยาง งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความหลากหลายของราเอคโตไมคอร์ไรซาในแปลงฟื้นฟูระบบนิเวศในพื้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จังหวัดสระบุรี โดยแปลงที่ทำการศึกษาเป็นแปลงที่มีไม้วงศ์ยางหลายชนิดซึ่งเป็นพืชอาศัยของราเอคโตไมคอร์ไรซา ได้แก่ พะยอม ยางนา รัง เต็ง และตะเคียนทอง โดยเก็บตัวอย่างดิน 2 ครั้ง คือ เดือนสิงหาคมและเดือนตุลาคม 2561 เพื่อแยกและศึกษาลักษณะสัณฐานของรากที่มีราเอคโตไมคอร์ไรซา หรือ morphotype จากการศึกษาสามารถแยกรากที่มีราเอคโตไมคอร์ไรซาได้ทั้งหมด 14 morphotypes ซึ่งพบ 11 morphotypes ในเดือนสิงหาคมและ 13 morphotypes ในเดือนตุลาคมตามลำดับ มี 10 morphotypes ที่พบทั้งในเดือนสิงหาคมและเดือนตุลาคม นอกจากนี้พบว่า morphotype ที่พบมากที่สุดในเดือนสิงหาคมและเดือนตุลาคม คือ Morphotype 1 และ 6 ตามลำดับ พืชอาศัยที่มีการติดเชื้อไมคอร์ไรซามากที่สุด คือ เต็ง โดยส่วนใหญ่แล้วบริเวณพื้นที่ระหว่างพืชอาศัยจะมีการติดเชื้อที่สูงกว่าโคนต้นของพืชอาศัยแต่ละต้น ส่วนใหญ่พบ morphotype ในพืชอาศัยหลายชนิด เช่น Morphotype 10 ซึ่งพบในพืชอาศัยทั้ง 5 ชนิด morphotype ที่พบบริเวณพื้นที่ระหว่างพืชอาศัยก็เป็นชนิดที่พบในพืชอาศัยแต่ละต้นที่อยู่ล้อมรอบบริเวณนั้น ๆ แต่จะมีความชุกชุมที่น้อยกว่า ในทางกลับกันพืชอาศัยแต่ละชนิดก็พบ morphotype หลายชนิดซึ่งอาจมาจากราเอคโตไมคอร์ไรซาต่างชนิดกัน อย่างไรก็ตามการระบุชนิดของรานั้นต้องอาศัยเทคนิคทางชีววิทยาโมเลกุล ผลการศึกษาครั้งนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการฟื้นฟูระบบนิเวศป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณต่อไปได้