Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1. ศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการวางแผนภาษี โดยมุ่งเน้นศึกษาที่ลักษณะของผู้ถือหุ้นที่มีอำนาจในการควบคุม 2. ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการวางแผนภาษีกับมูลค่าของกิจการ และ 3. ศึกษาเปรียบเทียบความแตกต่างของการวางแผนภาษีในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม โดยได้ให้คำจำกัดความของการวางแผนภาษีว่าเป็นการทำให้ค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลลดลง โดย 1. การทำให้กำไรทางภาษีลดลงแต่ไม่กระทบกับกำไรทางบัญชี วัดค่าจากอัตราภาษีเงินได้ที่แท้จริง (ETR) และ 2. การทำให้ทั้งกำไรทางภาษีและกำไรทางบัญชีลดลง วัดค่าจากอัตราส่วนภาษีต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน (TAX/CFO) และอัตราส่วนภาษีต่อสินทรัพย์รวม (TAX/ASSET) ผลการศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการวางแผนภาษีพบว่าโครงสร้างการถือหุ้นมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการวางแผนภาษีที่แตกต่างกัน โดยโครงสร้างการถือหุ้นที่มีกลุ่มครอบครัวเป็นผู้ถือหุ้นที่มีอำนาจในการควบคุม มีความสัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของการวางแผนภาษีที่ทำให้พังกำไรทางภาษีและกำไรทางบัญชีลดลงสอดคล้องกับแนวคิดว่าบริษัทครอบครัวไม่มีแรงจูงใจให้ต้องรายงานกำไรทางบัญชีสูง ผลประกอบการที่แท้จริงสามารถที่จะติดต่อสื่อสารกันเป็นการภายใน ทำให้มีแรงจูงใจมากกว่าในการแสดงกำไรทางบัญชีตํ่า ซึ่งจะส่งผลต่อค่าใช้จ่ายภาษีที่ลดลง ขณะที่บริษัทที่มีชาวต่างประเทศ และบริษัทที่มีรัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้นที่มีอำนาจควบคุม มีการวางแผนภาษีที่ทำให้กำไรทางบัญชีลดลงตํ่ากว่าเนื่องจากการกำหนดจ่ายค่าตอบแทนแก่ผู้บริหารโดยอ้างอิงจากตัวเลขกำไรทางบัญชี ทำให้บริษัทมีแรงจูงใจสูงในการแสดงตัวเลขกำไรทางบัญชีสูง รวมทั้งบริษัทรัฐบาลไม่ได้มีวัตถุประสงค์หลักในการดำเนินงานเพื่อการหากำไรสูงสุด จึงไม่มีแรงจูงใจในการวางแผนภาษี นอกจากนี้พบว่าบริษัทขนาดใหญ่ มีอัตราส่วนหนี้สินต่อสินทรัพย์รวมสูง มีระดับการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีตัวตนสูง มีการวางแผนภาษีสูง แต่บริษัทที่มีความสามารถในการทำกำไรสูง มีการวางแผนภาษีที่ทำให้กำไรทางภาษีลดลงแต่ไม่กระทบกับกำไรทางบัญชีสูง แต่มีการวางแผนภาษีที่ทำให้ทั้งกำไรทางบัญชีและกำไรทางภาษีลดลงต่ำ และจากการเปรียบเทียบการวางแผนภาษีในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมพบว่ากลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร เป็นกลุ่มทีมีค่าใช้จ่ายภาษีตํ่าแตกต่างกับกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นอย่างมีนัยสำคัญ สำหรับการทดสอบความสัมพันธ์ระหว่างการวางแผนภาษีกับมูลค่าของกิจการ ซึ่งวัดจากค่า Tobin’s q ผลการศึกษาพบว่า การวางแผนภาษีไม่มีผลกระทบกับมูลค่าของกิจการ แสดงถึงการวางแผนภาษีไม่เกี่ยวกับการดำเนินงานหลักของบริษัท ตลาดทุนไม่ได้ให้ความสำคัญกับข้อมูลค่าใช้จ่ายภาษี