Abstract:
ในงานวิจัยนี้พัฒนาวิธีการเตรียมตัวอย่างด้วยวิธีการตกตะกอนโปรตีน สำหรับตรวจวัดปริมาณไอโอดีนในไข่ไก่โดยใช้เครื่องไอออนโครมาโทกราฟี โดยศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการตกตะกอนโปรตีน ได้แก่ ชนิดตัวทำละลายโดยการสังเกตลักษณะทางกายภาพของตัวอย่างไข่ไก่หลังผ่านวิธีการเตรียมตัวอย่าง และประสิทธิภาพของวิธีการเตรียมตัวอย่าง โดยประเมินจากเปอร์เซ็นต์ค่าการคืนกลับจากการเติมสารละลายไอโอไดด์และไอโอเดตที่ความเข้มข้น 5 มิลลิกรัมต่อลิตร พบว่าวิธีการตกตะกอนโปรตีนด้วยเมทานอลและอะซิโตไนไตรล์ร่วมกับกรดฟอร์มิกเข้มข้น 1 เปอร์เซ็นต์ สามารถกำจัดเมทริกซ์ไข่ไก่ได้สารละลายใสที่สุด จากเปอร์เซ็นต์ค่าการคืนกลับพบว่าเมทานอลมีความสามารถในการตกตะกอนไอโอไดด์และไอโอเดตดีกว่าอะซิโตไนไตรล์ เมทริกซ์ในไข่ไก่มีผลต่อการวัดปริมาณไอโอไดด์และไอโอเดต เมื่อนำวิธีการเตรียมตัวอย่างที่พัฒนาขึ้นไปหาปริมาณไอโอดีนในไข่ไก่เสริมไอโอดีน พบว่าได้ปริมาณไอโอไดด์ในไข่เสริมไอโอดีน ตัวอย่างที่ 1 0.4103 ไมโครกรัมต่อฟอง และ 0.4534 ไมโครกรัมต่อฟอง มีเปอร์เซ็นต์ค่าความผิดพลาดสัมพัทธ์ -6 ถึง 4 เปอร์เซ็นต์ และ มีปริมาณไอโอไดด์ในไข่เสริมไอโอดีน ตัวอย่างที่ 2 0.8320 ไมโครกรัมต่อฟอง และ 0.5223 ไมโครกรัมต่อฟอง ตามลำดับ มีเปอร์เซ็นต์ค่าความผิดพลาดสัมพัทธ์ 65 ถึง 78 เปอร์เซ็นต์