Abstract:
โรคมะเร็งเต้านมจัดว่าเป็นโรคมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับหนึ่งในเพศหญิง เป้าหมายหลักของการใช้รังสีในการรักษาโรคมะเร็งเต้านม คือการให้รังสีพลังงานสูงแก่เซลล์มะเร็ง โดยที่เซลล์ปกติข้างเคียงได้รับผลกระทบจากรังสีน้อยที่สุด อย่างไรก็ตาม ประสิทธิภาพของการใช้รังสีรักษาสามารถที่จะพัฒนาให้สูงมากยิ่งขึ้นได้ โดยการใช้รังสีรักษาร่วมกับวิธีการรักษาแบบอื่น เช่น การใช้ร่วมกับอนุภาคทองคำขนาดนาโน (Gold nanoparticle, GNP) ซึ่งมีคุณสมบัติที่เป็นตัวช่วยเสริมประสิทธิภาพของรังสี (Radiosensitizer) หรือการใช้ร่วมกับการให้ความร้อนที่สูง (Hyperthermia) ดังนั้น การวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาการตอบสนองของเซลล์มะเร็งเต้านม human breast adenocarcinoma MCF-7 cell line ต่อการรักษาร่วมระหว่างรังสี อนุภาคทองคำขนาดนาโนและความร้อน กระบวนการศึกษาด้วยวิธี Clonogenic assay ถูกนำมาใช้ เพื่อศึกษาผลของการอยู่รอดของเซลล์ MCF-7 ที่ผ่านการรักษาด้วยการฉายรังสี (0-5 Gy) การเติม GNP (0-0.05 nM) หรือการให้ความร้อนที่อุณหภูมิสูง 46 องศาเซลเซียส (°C) เพียงอย่างเดียว เปรียบเทียบกับผลของการรักษา ด้วยวิธีการรักษาร่วม ซึ่งทำโดยการเติม GNP (0.01 และ 0.05 nM) ร่วมกับการให้ความร้อนที่อุณหภูมิ 46°C เป็นระยะเวลา 5 นาที และตามด้วยการนำเซลล์ไปบ่มต่อที่อุณหภูมิ 37°C เป็นระยะเวลา 24 ชั่วโมง ก่อนทำการให้รังสีเอกซ์ ที่ปริมาณรังสี เท่ากับ 2 Gy นอกจากนี้ ยังศึกษาผลกระทบของอุณหภูมิต่อปริมาณการสะสมของอนุภาคทองคำขนาดนาโนในเซลล์ MCF-7 จากผลการทดลองพบว่า อัตราการตายของเซลล์ MCF-7 จะเพิ่มขึ้นเมื่อได้รับปริมาณรังสีหรือความเข้มข้นของ GNP ที่เพิ่มขึ้น พร้อมกันนี้ในการบ่มเซลล์ที่อุณหภูมิ 46°C ไม่ได้ทำให้เกิดการตายของเซลล์อย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตอย่างยิ่งว่า การบ่มเซลล์ที่อุณหภูมิ 46°C นั้นส่งผลทำให้มีปริมาณของ GNP ผ่านเข้าไปสะสมอยู่ภายในเซลล์มีมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่เกี่ยวข้อง ในการตรวจพบอัตราการตายของเซลล์ MCF-7 ที่มากที่สุด ภายหลังจากการใช้รังสีรักษาร่วมกับ GNP และความร้อน เมื่อเทียบกับการให้การรักษาด้วยรังสี หรือ GNP หรือความร้อนสูง เพียงอย่างเดียว ดังนั้นจากผลการศึกษานี้ สามารถแสดงให้เห็นว่า การใช้รังสีรักษาร่วมกับ GNP และการใช้ความร้อน สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำลายเซลล์มะเร็งเต้านม MCF-7 ได้ดีมากยิ่งขึ้น ดังนั้น ผลจากการศึกษาที่ได้นี้อาจจะถูกนำไปใช้ เพื่อเป็นข้อมูลทางเลือกในการรักษามะเร็งเต้านมได้ต่อไปในอนาคต