Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะทำการวิเคราะห์โครงสร้างของระบบเกษตรกรรม จำแนกพื้นที่และแสดงรูปแบบทางพื้นที่ของลักษณะที่สำคัญของระบบเกษตรกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การวิเคราะห์องค์ประกอบหลัก แสดงให้เห็นโครงสร้างที่รองรับระบบเกษตรกรรมในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากตัวแปร 21 ตัวที่เลือกมา สามารถวิเคราะห์ใต้องค์ประกอบหลัก 7 ตัว ซึ่งอธิบายความแปรปรวนได้ร้อยละ 71 ได้ตั้งชื่อองค์ประกอบตามตัวแปรที่มีค่านํ้าหนักสูงในแต่ละองค์ประกอบอันได้แก่ รูปแบบการใช้ที่ดิน ดัชนีสภาวะทางเศรษฐกิจ ความเข้มการใช้ที่ดิน ผลผลิต การใช้แรงงาน และการถือครองที่ดิน ผลการวิเคราะห์แสดงว่าสามารถจำแนกอำเภอแต่ละแห่งตามค่าคะแนนองค์ประกอบ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ องค์ประกอบรูปแบบการใช้ที่ดินแสดงให้เห็นว่าร้อยละ 38 ของอำเภอทั้งหมดปลูกข้าวเป็นพืชหลักและปลูกเป็นพืชเดียว และร้อยละ 32 ปลูกพืชไร่และเป็นการเพาะปลูกพืชผสม จากองค์ประกอบที่สองสรุปได้ว่า อำเภอที่มีมูลค่าหนี้สินเฉลี่ยสูงจะมีเนื้อที่ถือครองเฉลี่ยขนาดเล็ก และในทางตรงกันข้าม อำเภอที่มีมูลค่าหนี้สินตํ่าจะมีเนื้อที่ถือครองขนาดใหญ่ ค่าคะแนนของอำเภอในองค์ประกอบที่เหลือแสดงว่าอำเภอเหล่านี้มีความแตกต่างกันในด้าน ความเข้มการใช้ที่ดิน ผลผลิต แรงงานเกษตร การใช้แรงงานสัตว์และการถือครองที่ดิน การวิเคราะห์แสดงให้เห็นว่าอำเภอในภาคตะวันออกเฉียงเหนือไม่มีความแตกต่างในด้าน การใช้ปุ๋ยและเครื่องจักรกล การนำเข้าตัวแปรทั้ง 21 ตัว และค่าคะแนนองค์ประกอบ 7 ค่า ขององค์ประกอบหลัก 7 ตัว สำหรับแต่ละอำเภอ ในฐานข้อมูลระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ ทำให้สามารถสอบถามได้อย่างคล่องตัว วิเคราะห์และแสดงความผันแปรทางพื้นที่ของผลลัพธ์ในรูปแบบของแผนที่เฉพาะเรื่อง งานวิจัยนี้ได้จำแนกอำเภอตามประเภทและระดับของความได้เปรียบและปัญหาดังที่บ่งชี้จากค่าคะแนนองค์ประกอบ