Abstract:
การศึกษาวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างเพศในนัยทางการเมือง และชี้ให้เห็นว่าความหมายเรื่องผู้หญิงไม่ดีเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความคิดของสังคมและความคิดของนักวิชาการในเรื่องผู้หญิงไม่ดี โดยทำการวิจัยเอกสารที่เขียนเกี่ยวยับผู้หญิงในช่วงเวลา พ.ศ. 2523-2543 รวมทั้งได้ทำการสัมภาษณ์ แบบเจาะลึกกับกลุ่มตัวอย่างจำนวน 19 คน ผลการศึกษาพบว่า การให้ความหมายเรื่องผู้หญิงไม่ดีเปลี่ยนแปลงไปทั้งจากมุมมองของสังคมและนักวิชาการ ในสังคมไทยผู้หญิงที่ดีต้องรักษาพรหมจรรย์ไว้จนกว่าจะแต่งงาน รักนวลสงวนตัว เป็นแม่ศรีเรือนเป็นภรรยาที่ดีและเป็นแม่ที่ดี แต่ในชนชั้นสูงค่านิยมพรหมจรรย์ การรักนวลสงวนตัวและแม่ศรีเรือนมีความเข้มงวดกว่าชาวบ้านทั่วไป ในช่วงรัชกาลที่ 4-6 พรหมจรรย์การรักนวลสงวนตัว และความเป็นแม่ศรีเรือนที่ผู้หญิงต้องทำงานเฉพาะงานบ้านถูกเชิดชูขึ้นมาเป็นอุดมการณ์แห่งชาติที่ผู้หญิงต้องปฏิบัติผ่านระบบการศึกษาแบบใหม่ ส่วนในบทบาทความเป็นแม่นั้นถูกให้ความสำคัญมากขึ้นในยุคของจอมพล ป. พิบูลสงคราม และยังได้ให้ความสำคัญกับการเป็นแม่ศรีเรือนที่ต้องทำงานทั้งในบ้านและนอกบ้าน ส่วนความคิดเห็นของนักวิชาการนั้นเปิดกว้างให้ผู้หญิงได้มีทางเลือกมากขึ้นในเรื่องพฤติกรรมทางเพศ ความเป็นแม่ศรีเรือน ภรรยาที่ดีและบทบาทความเป็นแม่ แต่ในเรื่องการแต่งกายแล้วจะพบว่ามีความแตกต่างระหว่างคนสองกลุ่มอย่างชัดเจน คือ กลุ่มที่เห็นว่าผู้หญิงควรจะมีอิสระในการแต่งตัวถึงแม้ว่าจะเปิดเผยรูปร่างมากเกินไป กับกลุ่มที่เห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม นอกจากนั้นนักวิชาการยังได้รับอิทธิพลจากแนวคิดมาร์กซิสต์และเฟมินิสต์