Abstract:
การดื้อยาต้านจุลินทรีย์เป็นหนึ่งในปัญหาสาธารณะสุขที่สำคัญของโลก เกิดขึ้นเมื่อจุลินทรีย์มีกลไกในการดื้อต่อยาต้านจุลินทรีย์ ซึ่งสามารถเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ อย่างไรก็ตามในช่วงระยะเวลา 30 ปีหลังที่ผ่านมานั้น พบว่าไม่มีการค้นพบยาปฏิชีวนะในกลุ่มใหม่เพิ่มเติม ดังนั้นจึงมีงานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับการคัดแยกแอคติโนมัยสีท (actinomycetes) ซึ่งเป็นผู้ผลิตที่สำคัญในการผลิตสารเมตาบอไลท์ทุติยภูมิจากแหล่งใหม่ เช่น มูลสัตว์ เพื่อเพิ่มความเป็นไปได้ในการค้นพบยาปฏิชีวนะชนิดใหม่ การวิจัยในครั้งนี้สนใจที่จะศึกษาลักษณะทางสัณฐานวิทยาของ actinomycetes ที่คัดแยกจากปุ๋ยมูลไส้เดือน ที่เลี้ยงด้วยมูลโคนม จากจังหวัดราชบุรี ประเทศไทย และตรวจสอบความสามารถในการผลิตสารออกฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของจุลินทรีย์ จาก actinomycetes ทั้งหมด 86 ไอโซเลท สารมารถจัดกลุ่มได้เป็น 27 กลุ่ม ตามสีของ substrate mycelium, สีของ aerial mycelium, สารมีสีที่ถูกผลิตขึ้น และสีของสปอร์ จากเชื้อทั้งหมดได้นำ 45 ไอโซเลท มาทดสอบความสามารถในการผลิตสารออกฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของจุลินทรีย์ทดสอบ 5 ชนิด ได้แก่ Escherichia coli, Bacillus subtilis, Staphylococcus aureus, Pseudomonas aeruginosa และ Candida albicans ด้วยเทคนิค agar plug จากผลการทดสอบความสามารถในการยับยั้งจุลินทรีย์ทดสอบได้นำเชื้อจำนวน 12 ไอโซเลท มาวิเคราะห์ลำดับนิวคลีโอไทด์บริเวณ 16S rRNA สามารถระบุชนิดได้เพียง 1 ไอโซเลทเท่านั้น คือ WC115 สามารถระบุสายพันธุ์ได้ คือ Streptomyces tendae ATCC 19812 โดยมี %identity เท่ากับ 100.00% และมีความใกล้ชิดกับ Streptomyces tritolerans AS1 ที่มีรายงานว่าคัดแยกได้จากทางเดินอาหารของไส้เดือน (Eisenia foetida) ดังนั้นผลการศีกษาวิจัยในครั้งนี้ อาจเป็นการเพิ่มความรู้และความเข้าใจความสัมพันธ์ของ actinomycetes กับปุ๋ยมูลไส้เดือน อีกทั้งอาจนำไปสู่การค้นพบ actinomycetes ชนิดใหม่ หรือการค้นพบสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพชนิดใหม่ ซึ่งจะนำไปสู่การค้นพบยาต้านจุลินทรีย์ชนิดใหม่ ที่สามารถนำไปใช้ด้านการแพทย์ และเป็นประโยชน์ต่อไปในอนาคต