Abstract:
นับตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์ค่าเงินในช่วงทศวรรษ 1990 ที่ผ่านมา ทำให้กลุ่มประเทศต่าง ๆ ทั้งกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนารวมทั้งประเทศไทย ได้หันมาใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว ดังนั้นจึงมีการให้ความสนใจถึงปัจจัยที่จะกำหนดอัตราแลกเปลี่ยน เพี่อให้ทราบถึงสาเหตุและทิศทางการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยน ในการศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพี่อศึกษาถึงปัจจัยที่มีอิทธิพลกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวตามแนวคิดทางการเงินของกลุ่มประเทศในยุโรป ละตินอเมริกาและเอเชีย รวมทั้งเปรียบเทียบว่าความสัมพันธ์ของอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวของทั้งสามกลุ่มประเทศมีรูปแบบโครงสร้างที่แตกต่างกันหรือไม่ โดยทำการศึกษาใน 3 ช่วง เวลา กล่าวคือ กลุ่มประเทศในยุโรป ซึ่งประกอบด้วย อังกฤษ สวีเดน และอิตาลี ศึกษาตั้งแต่ปี 1993-1998 ส่วนกลุ่มประเทศในละตินอเมริกา ซึ่งประกอบด้วยเม็กซิโก เปรู และบราซิล ศึกษาตั้งแต่ปี 1995-1999 และกลุ่มประเทศในเอเชีย ซึ่งประกอบด้วย ไทยและฟิลิปปินส์ ศึกษาตั้งแต่ปี 1997-1999 ทั้งนี้นำมาประยุกต์ใช้กับการหาความสัมพันธ์ไนเชิงดุลยภาพระยะยาว (Cointegration) ตามแนวคิดของ Johansen & Juselius (1990) แบบจำลองการปรับตัวในระยะสั้น (Error Correction Model) และการทดสอบ Chow Test เพี่อศึกษาถึงความแตกต่างของโครงสร้างอัตราแลกเปลี่ยนของทั้งสามกลุ่มประเทศ ผลการศึกษาพบว่า แนวคิดทางการเงิน (Monetary Approach) สามารถนำมาใช้ในการหาความสัมพันธ์ในเชิงดุลยภาพระยะยาวของอัตราแลกเปลี่ยนกับปัจจัยทางการเงินของกลุ่มประเทศในยุโรป ละตินอเมริกา และเอเชีย โดยที่แบบจำลองตามแนวคิดทางการเงินเมื่อราคาคงที่ในระยะสั้น (The Sticky-Price Monetary Model) สามารถอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างอัตราแลกเปลี่ยนกับปัจจัยที่กำหนดได้เหมาะสมที่สุดในทุกกลุ่มประเทศ ส่วนผลการศึกษาการปรับตัวในระยะสั้น พบว่า หากเกิดการเบี่ยงเบนออกจากดุลยภาพในระยะยาว อัตราแลกเปลี่ยน แบบลอยตัวของกลุ่มประเทศในยุโรปและเอเชียจะมีการปรับตัวเข้าสู่ดุลยภาพอีกครั้ง ในขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนของกลุ่มประเทศในละตินอเมริกาไม่ปรากฏการปรับตัวดังกล่าว นอกจากนี้ ผลการศึกษายังแสดงให้เห็นว่า ทั้งสามกลุ่มประเทศมีรูปแบบโครงสร้างกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนที่ไม่เหมือนกัน ทั้งนี้เนื่องจากแต่ละกลุ่มประเทศมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจและปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน ทำให้ทิศทางการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนของแต่ละกลุ่มประเทศต่างกันออกไป ดังนั้น การดำเนินนโยบายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอัตราแลกเปลี่ยนของแต่ละกลุ่มประเทศจึงอาจแตกต่างกันด้วย