Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ในการศึกษาประวัติและผลงาน รวมถึงวิเคราะห์กระบวนการรำและกลวิธีการแสดงบททศกัณฐ์ในการแสดงโขน ตอน นางลอย ของครูจตุพร รัตนวราหะ ระเบียบวิธีวิจัยในการศึกษาเอกสาร การสัมภาษณ์ศิลปินอาวุโสผู้ทรงคุณวุฒิ การสังเกตการสอน และการแสดงโขน ตอน นางลอย ตลอดจนรับถ่ายทอดท่ารำและกลวิธีการแสดงตัวต่อตัวจากครูจตุพร รัตนวราหะ ผลการวิจัยพบว่ากระบวนการรำของทศกัณฐ์ตอนนางลอยมี 3 บทบาท คือ 1. บทนั่งเมือง 2. บทเกี้ยวนางสีดาแปลง 3. บทเขินอาย ซึ่งในแต่ละเพลงนอกจากจะมีท่ารำมาตรฐานแล้ว ยังมีท่ารำทำบทที่สอดแทรกท่าทางเลียนแบบอากัปกิริยาของมนุษย์ และยังได้พบกลวิธีที่ใช้ในการแสดงที่เป็นลักษณะเฉพาะของครูจตุพร รัตนวราหะ ได้แก่ ท่าเหลียว ท่ากล่อมหน้า ท่าเอียงศีรษะ ท่ากล่อมไหล่ ท่าตีไหล่ ท่าพิศมัยเรียงหมอน ท่าจีบ ท่าเอนลำตัว การใช้เกลียวข้าง การตั้งเหลี่ยม และการประเท้า ตลอดจนวิธีการปฏิบัติท่ารำประกอบจังหวะที่หมดก่อนจังหวะและหลังจังหวะรวมถึงวิธีการปฏิบัติท่ารำทำบทที่ตีบททุกคำพากย์และตีบทรวมคำพากย์ งานวิจัยนี้สามารถนำไปใช้เป็นตำราทางวิชาการอันเป็นประโยชน์ต่อครู ศิลปิน และบุคลากรทางด้านนาฏยศิลป์ไทย เพื่อเป็นแนวทางในด้านการแสดงและการศึกษาต่อไป