Abstract:
คำสอนเรื่องนิพพานในพระไตรปิฎกมีความซับซ้อนหลากหลาย และคำบรรยายลักษณะนิพพานบางแห่งก็เปิดช่องให้ตีความต่างกันได้ จึงเกิดความเข้าใจว่า นิพพานเป็นอัตตาบ้าง เป็นสิ่งสัมบูรณ์บ้าง เป็นความขาดสูญบ้าง วิทยานิพนธ์นี้เป็นการศึกษาว่า นิพพานในพุทธปรัชญาเถรวาทเป็นอัตตาหรืออนัตตา โดยแบ่งเนื้อหาของการศึกษาออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่ว่าด้วยอนัตตา และส่วนที่ว่าด้วยนิพพาน เพราะคำสอนทั้งสองเรื่องนี้เกี่ยวโยงกันอย่างแยกไม่ออกและต้องศึกษาไปพร้อมกัน จากการศึกษาคำสอนเรื่องอนัตตาพบว่า พุทธปรัชญาเถรวาทปฏิเสธความมีอยู่ของอัตตาทางอภิปรัชญาอย่างสิ้นเชิง เพราะพุทธพจน์ในพระไตรปิฎกจำนวนมากปฏิเสธอัตตาในลักษณะต่าง ๆ อย่างครอบคลุมโดยยืนกันว่าความมีอยู่ของอัตตาจะต้องเกี่ยวข้องกับขันธ์ 5 แต่ขันธ์ 5 เป็นอนัตตา และอัตตาไม่มีทั้งภายใน และภายนอกขันธ์ 5 อีกทั้งคำอธิบายในอรรถกถาก็ระบุไว้ชัดเจนว่า สรรพสิ่งเป็นอนัตตารวมทั้งนิพพาน ส่วนการศึกษาเรื่องนิพพานพบว่า คำบรรยายลักษณะของนิพพานและสภาวะหลังความตายของพระอรหันต์ที่ดับขันธ์ปรินิพพานในพระไตรปิฎกแสดงว่า นิพพานเป็นอนัตตา เพราะนิพพานหมายถึงภาวะแห่งความพ้นทุกข์ด้วยความดับหรือความไม่มีแห่งกิเลสในผลสมาบัติและความดับแห่งขันธ์ ไม่มีลักษณะของสัตว์ บุคคล หรืออัตตา ไม่ใช่สิ่งมีจริงทางอภิปรัชญาอย่างสิ่งสัมบูรณ์ และไม่ใช่ความขาดสูญ เพราะไม่มีอัตตาที่จะขาดสูญ และขันธ์ที่ดับสนิทก็ไม่อาจกล่าวว่ามีอยู่หรือขาดสูญคือไม่มีอยู่อย่างสิ้นเชิง เนื่องจากเป็นสิ่งสัมพัทธ์ที่เป็นไปตามเงื่อนไข นอกจากนั้น ยังมีพุทธพจน์ที่แสดงว่าอัตตาขัดแย้งกับการพ้นทุกข์คือนิพพานอีกด้วย การศึกษาทังสองส่วนจึงยืนกันตรงกันว่า ในทางอภิปรัชญานิพพานเป็นเพียงภาวะหรือเหตุการณ์ที่ปรากฏแก่วิญญาณที่ดับกิเลสและดับขันธ์แล้ว โดยไม่มีลักษณะของอัตตาทางอภิปรัชญาแต่อย่างใด