Abstract:
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปรากฏการณ์ และผลของการทำร้ายความรู้สึก และการอนุมานสาเหตุของเหตุการณ์ที่ทำร้ายความรู้สึก ผู้ร่วมการวิจัยเป็นบุคคลที่กำลังมีสัมพันธภาพแบบคู่รัก และคู่สมรส จำนวน 1,200 คนซึ่งได้รับการสุ่มให้ตอบแบบสอบถามแบบใดแบบหนึ่งในจำนวน 2 แบบ โดยบุคคลที่ถูกสุ่มให้ได้รับแบบสอบถามที่เป็นฝ่ายถูกระทำต้องนึกถึงสถานการณ์ที่ตนถูกทำร้ายความรู้สึก และบุคคลที่ถูกสุ่มให้ได้รับแบบสอบถามที่เป็นผู้กระทำต้องนึกถึงสถานการณ์ที่ตนเป็นผู้ทำร้ายความรู้สึกของอีกฝ่ายหนึ่ง จากนั้นผู้ร่วมการวิจัยต้องตอบคำถามเกี่ยวกับความรู้สึก การอนุมานสาเหตุเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ปฏิกิริยาเมื่อถูกทำร้ายความรู้สึก และผลที่เกิดตามมาจากเหตุการณ์ที่ทำร้ายความรู้สึก ผลการวิจัยพบว่า 1. การถูกทำร้ายความรู้สึกมีสหสัมพันธ์ทางบวกกับอารมณ์ทางลบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 2. การถูกทำร้ายความรู้สึกและความรู้สึกถูกปฏิเสธมีสหสัมพันธ์ทางบวกกับการประเมินตนเองทางลบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 3. ผู้ถูกกระทำอนุมานสาเหตุว่าผู้กระทำทำร้ายความรู้สึกเพราะไม่เห็นความสำคัญมากกว่าอนุมานสาเหตุว่าผู้กระทำมีเจตนาที่จะทำร้ายความรู้สึกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 4. การอนุมานสาเหตุว่าผู้กระทำทำร้ายความรู้สึกเพราะไม่ได้เจตนามีสหสัมพันธ์ทางบวกกับความรู้สึกเป็นทุกข์น้อยอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 5. ปฏิกิริยาหรือพฤติกรรมของผู้ถูกกระทำมีสหสัมพันธ์ทางบวกกับอารมณ์ทางลบที่เกิดจากการประเมินเหตุการณ์ที่ทำร้ายความรู้สึกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 6. ผู้ถูกระทำประเมินว่าเหตุการณ์ที่ทำร้ายความรู้สึกทำให้สัมพันธภาพจืดจางลงแบบชั่วคราวมากกว่าแบบถาวรอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 และไม่ทำให้ความไว้วางใจและความชอบในตัวผู้กระทำลดลง 7. ความรู้สึกเจ็บปวดจากการถูกทำร้ายความรู้สึกสหสัมพันธ์ทางลบกับความนับถือตนเองและความมั่นใจในตนเองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 8. การอนุมานสาเหตุว่าผู้กระทำมีเจตนาที่จะทำร้ายความรู้สึกของผู้ถูกกระทำมีสหสัมพันธ์ทางบวกกับการที่ผู้ถูกกระทำประเมินว่าสัมพันธภาพจืดจางลงแบบถาวรอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001