Abstract:
งานวิจัยในครั้งนี้ต้องการศึกษาผลของฟลูออไรด์ที่มีต่อเชลล์ที่เพาะเลี้ยงจากเนื้อเยื่อโพรงฟันของมนุษย์ทั้งในแง่ของการกระตุ้นอัตราการเจริญและการสร้างโปรตีนไฟโบรเนกติน เซลล์โพรงฟันของมนุษย์เตรียมจากเนื้อเยื่อโพรงฟันที่ได้จากฟันกรามซี่ที่ 3 จากนั้นนำเซลล์ที่ได้มาเลี้ยงในอาหารเลี้ยงเซลล์ที่มีโซเดียมฟลูออไรด์ในความเข้มข้นต่างๆ กันตั้งแต่ 0 ถึง 10 ส่วนในหนึ่งล้านส่วนของ ฟลูออไรด์เป็นเวลา 48 ชั่วโมง ผลการทดลองแสดงให้เห็นว่าฟลูออไรด์สามารถกระตุ้นอัตราการเจริญและการสร้างไฟโบรเนกตินได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ซึ่งสนับสนุนถึงบทบาทของฟลู ออไรด์ที่มีต่อการซ่อมแซมเนื้อเยื่อโพรงฟัน ในการทดลองส่วนที่ลองเป็นการศึกษาผลร่วมระหว่างฟลูออไรด์และโกร๊ทแฟคเตอร์ทั้งสองชนิดคือเบสิค-เอฟจีเอฟและพีดีจีเอฟ ซึ่งต่างก็เป็นโกร๊ทแฟคเตอร์ที่มีบทบาทในกระบวนการซ่อมแซมเนื้อเยื่อในร่างกาย โดยจะทดสอบในเซลล์ที่เพาะเลี้ยงจากเนื้อเยื่อโพรงฟันของมนุษย์ไนแง่ของการกระตุ้นการเจริญและการสร้างโปรตีนไฟโบรเนกตินด้วยเช่นเดียวกัน เซลล์ที่ได้จะนำมาเลี้ยงในอาหารเลี้ยงเซลล์ที่มีโซเดียมฟลูออไรด์ที่ความเข้มข้น 1 ส่วนในหนึ่งล้านส่วนของฟลูออไรด์ร่วมกับโกร๊ทแฟคเตอร์ทั้งสองชนิดเป็นเวลา 48 ชั่วโมงเท่ากัน ผลการทดลองพบว่าเมื่อให้โกร๊ทแฟคเตอร์ร่วมกับฟลูออไรด์พบว่ามีอัตราการเจริญเพิ่มขึ้นมากกว่าการกระตุ้นด้วยฟลูออไรด์เพียงอย่างเดียว การกระตุ้นด้วยฟลูออไรด์ร่วมกับพีดีจีเอฟพบว่าเซลล์จะมีการสร้างไฟโบรเนกตินเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน ในขณะที่การกระตุ้นด้วยฟลูออไรด์กับเบสิค-เอฟจีเอฟกลับลดการสร้างไฟโบรเนกตินลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ การทดลองดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าโกร๊ทแฟคเตอร์ทั้งสองชนิดมีอิทธิพลต่อการตอบสนองของเซลล์โพรงฟันที่มีต่อฟลูออไรด์และฟลูออไรด์น่าจะมีบทบาทสำคัญในกระบวนการซ่อมแซมเนื้อเยื่อโพรงฟัน