Abstract:
วิทยานิพนธ์เล่มนี้ศึกษาคำกริยาและองค์ประกอบบังคับในสารคดีท่องเที่ยวตามแนวโครงสร้างประโยคระดับตรรกะ ผลการศึกษาพบว่ามีคำกริยาที่ไม่ซํ้ากันจำนวน 1,232 คำ คำกริยาเหล่านี้แบ่งเป็น คำกริยาแสดงสภาพ 395 คำ คำกริยาแสดงอาการ 742 คำ และคำกริยาแสดงความรู้สึก 95 คำ ส่วนการศึกษาองค์ประกอบบังคับผู้วิจัยพบว่า คำกริยาแต่ละประเภทมีองค์ประกอบบังคับแตกต่างกันคือ คำกริยาแสดงสภาพและคำกริยาแสดงความรู้สึกมีองค์ประกอบบังคับ 1 หรือ 2 ตัว ส่วนคำกริยาแสดงอาการมีองค์ประกอบบังคับ 2 หรือ 3 ตัว การนับองค์ประกอบบังคับจะนับรวมส่วนที่เป็นประธานด้วย ผลดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าการวิเคราะห์โครงสร้างประโยคระดับตรรกะต่างจากการวิเคราะห์โครงสร้างประโยคระดับพื้นผิวของไวยากรณ์โครงสร้างซึ่งแบ่งคำกริยาเป็นคำกริยาอกรรม คำกริยาสกรรมและคำกริยาทวิกรรม และจะพิจารณาเฉพาะจำนวนคำนามที่ตามหลังคำกริยาเท่านั้นไม่นับรวมคำนามส่วนที่เป็นประธานของประโยค ส่วนผลการศึกษาลักษณะความสัมพันธ์ทางอรรถศาสตร์ระหว่างคำกริยาและองค์ประกอบบังคับโดยใช้กรอบการกตามแนวไวยากรณ์การ พบว่าคำกริยาในสารคดีท่องเที่ยวมีกรอบการกทั้งสิ้น 21 กรอบ ผลดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าการวิเคราะห์โครงสร้างประโยคระดับตรรกะมักได้ผลการวิเคราะห์เหมือนกันกับการวิเคราะห์โครงสร้างประโยคระดับความหมายของไวยากรณ์ การก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของการกหลักๆ เช่น ผู้ทำ ผู้ถูก ผู้ประสบ เครื่องมือ เป็นต้น นอกจากนั้นผู้วิจัยพบว่าความสัมพันธ์ทางอรรถศาสตร์ของคำกริยาและองค์ประกอบบังคับในส่วนที่เป็นการกผู้ทำของคำกริยาแสดงอาการ และผู้ประสบของคำกริยาแสดงความรู้สึก อาจเป็นสิ่งไม่มีชีวิตได้ ในกรณีที่เป็นภาพพจน์บุคลาธิษฐาน