Abstract:
งานวิทยานิพนธ์นี้เป็นการวิจัยเชิงทดลองที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาปัจจัยทางกายภาพที่มีผลต่อการหาทิศทางในมหาวิทยาลัย และศึกษากระบวนการหาทิศทางในสภาวะต่าง ๆ ที่มีผลต่อการเลือกใช้ปัจจัยกายภาพที่แตกต่างกัน โดยทำการทดลองที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ผลที่ได้จะนำมาเป็นแนวทางในการออกแบบผังบริเวณที่เอื้อให้สามารถหาทิศทางได้ง่าย การทดลองแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนที่ 1 เป็นการสอบถามความคิดเพื่อทราบการคาดเดาตำแหน่งของจุดหมายก่อนหาทิศทางโดยใช้แบบสอบถาม ขั้นตอนที่ 2 เป็นการทดลองหาทิศทางในสภาพแวดล้อมจริงโดยให้กลุ่มตัวอย่างหาทิศทางทั้งหมด 4 ครั้ง คือ หาทิศทางจากจุดเริ่มต้นไปยังจุดหมายหอสมุดกลาง หาทิศทางจากหอสมุดกลางไปจุดหมายคณะวิศวกรรมศาสตร์ หาทิศทางจากจุดหมายคณะวิศวกรรมศาสตร์ไปจุดหมายสำนักพิมพ์ และหาทิศทางจากสำนักพิมพ์กลับมาจุดเริ่มต้น โดยผู้วิจัยเข้าไปมีส่วนร่วมตลอดเวลาการทดลอง โดยการติดตามสังเกตการณ์และสัมภาษณ์ถึงปัจจัยที่มีผลต่อการหาทิศทางในจุดตัดสินใจต่าง ๆ และสภาวะที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ลักษณะการตัดสินใจ ตำแหน่งกายภาพ ณ จุดตัดสินใจ ปัจจัยกายภาพที่ใช้ สาเหตุ จำนวนการตัดสินใจและเวลาที่ใช้ในการค้นหาจุดหมาย ขั้นตอนที่ 3 ทำการอภิปรายกับผู้เข้าทดลองถึงเส้นทางที่ใช้และสอบถามความคิดเห็นถึงลักษณะกายภาพที่ทำให้การหาทิศทางเป็นไปได้ยากหรือง่ายเพียงไร ข้อมูลที่ได้จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 10 คนที่ไม่คุ้นเคยกับสถานที่ทดลอง โดยแบ่งเป็นกลุ่มสถาปนิก-ภูมิสถาปนิก 5 คน และกลุ่มบุคคลทั่วไป 5 คน นำมาวิเคราะห์แบบแผนของปัจจัยในสภาวะต่าง ๆ โดยใช้วิธีการวิเคราะห์เนื้อหา (Content analysis) ผลการวิจัยพบว่าปัจจัยที่มีผลต่อการหาทิศทาง คือ การจัดระเบียบผัง ทางสัญจร การมองเห็นได้ จุดอ้างอิง เนื้อหา และขอบ แต่ละปัจจัยมีความสำคัญแตกต่างกันไปในแต่ละสถานการณ์ ณ จุดตัดสินใจต่าง ๆ โดยสถานการณ์ที่กล่าวถึงนั้นเกิดจากสภาวะทางกายภาพและสภาวทางจิตใจของบุคคลต่อจุดตัดสินใจ ประกอบกับสภาวะทางภายภาพและสภาวะทางจิตใจของบุคคลต่อจุดมหาย โดยผลสรุปสุดท้ายสามารถสรุปปัจจัยกายภาพที่สำคัญในแต่งละสภาวะและประมวลสถานการณ์ที่เป็นไปได้ ได้ทั้งหมด 54 สถานการณ์