Abstract:
พื้นที่เพาะปลูกอ้อยส่วนใหญ่ในประเทศไทยจะอยู่นอกเขตชลประทาน ทำให้เมื่อเกิดปัญหาภัยแล้งจะเกิดความเสียหายต่อไร่อ้อยและส่งผลกระทบต่อเกษตรกรที่ปลูกอ้อย งานวิจัยนี้จึงสนใจใช้แบคทีเรียส่งเสริมการเจริญของพืช ได้แก่ Bacillus thuringiensis B2, Bacillus stratophericus L19 และ Bacillus altitudinis T17 และแบคทีเรียที่ผลิตสารลดแรงตึงผิว ได้แก่ Weissella cibaria PN3 มาช่วยให้อ้อยสามารถทนอยู่ในสภาวะแล้งได้ดีขึ้น โดยเตรียมแบคทีเรียในรูปหัวเชื้อผสมแบบตรึงกับวัสดุ เพื่อช่วยให้แบคทีเรียสามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานขึ้น โดยวัสดุตรึงที่ใช้ในงานวิจัยนี้ ได้แก่ ถ่านชีวภาพ, เถ้าลอย และกากเนื้อในปาล์ม จากการศึกษาเปรียบเทียบสมบัติทางกายภาพและลักษณะพื้นผิวของวัสดุตรึงด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราด พบว่าถ่านชีวภาพมีค่าความชื้นสัมพัทธ์สูง และมีรูพรุนจำนวนมาก จึงง่ายต่อการที่แบคทีเรียจะเข้าไปอาศัยและเจริญอยู่ภายใน ส่วนลักษณะพื้นผิวของเถ้าลอยจะมีรูพรุนที่แบคทีเรียสามารถเข้าไปอาศัยอยู่ได้ และกากเนื้อในเมล็ดปาล์มมีธาตุไนโตรเจนสูง ซึ่งไนโตรเจนเป็นแร่ธาตุที่สำคัญต่อการเจริญของอ้อย จากการทดลองตรึงเซลล์แบคทีเรียในวัสดุตรึง พบว่าอัตราการมีชีวิตรอดของแบคทีเรียในวัสดุตรึงแต่ละชนิดค่อนข้างใกล้เคียงกัน โดยแบคทีเรียในวัสดุตรึงที่บ่มครบ 2 สัปดาห์ มีปริมาณแบคทีเรีย 109-1011 CFU ต่อกรัมวัสดุตรึง ในงานวิจัยนี้จึงเลือกใช้วัสดุตรึงทั้ง 3 ชนิดผสมกัน เพื่อนำข้อดีของวัสดุแต่ละชนิดมารวมกัน เมื่อเติมวัสดุตรึงที่มีเชื้อแบคทีเรียแบบผสมลงในดินที่ปลูกอ้อย พบว่าช่วงที่ให้น้ำเป็นเวลา 2 สัปดาห์ อ้อยมีการเจริญเพิ่มขึ้นในทุกชุดการทดลอง และเมื่อจำลองสภาวะแล้งโดยงดให้น้ำเป็นเวลา 2 สัปดาห์ พบว่าอ้อยที่ใส่แบคทีเรียตรึงทนสภาวะแล้งได้ดี โดยชุดการทดลองที่ใช้วัสดุตรึงที่มีเชื้อผสม 3 ชนิด มีความยาวรากมากที่สุด และชุดการทดลองที่ใช้วัสดุตรึงที่มีเชื้อผสม 4 ชนิด มีเปอร์เซ็นต์ความยาวต้นและใบที่เพิ่มขึ้นมากที่สุด ดังนั้นควรจะเพิ่มระยะเวลาของช่วงการจำลองสภาวะแล้งให้นานขึ้น เพื่อให้เห็นผลที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนมากกว่านี้ จากผลการทดลองทั้งหมดสามารถสรุปได้ว่าการเติมหัวเชื้อแบคทีเรียผสมแบบตรึงสามารถช่วยส่งเสริมการเจริญของอ้อยในสภาวะแล้งได้ดียิ่งขึ้น