Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างพลวัตของระบบคลังโลหิต ของศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทยและศึกษาผลกระทบจากการจัดหาโลหิตต่อคลังโลหิต เพื่อเสนอแนวทางในการปรับปรุงกิจกรรมการจัดหาโลหิต โดยการปรับเปลี่ยนนโยบายต่าง ๆ ข้อมูลที่ใช้ในงานวิจัยนี้เป็นข้อมูลเฉลี่ยซึ่งได้มาจากเอกสารสถิติข้อมูล ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รวบรวมไว้ ในช่วงเดือนมกราคม พ.ศ. 2544 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2545 และข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง และนำข้อมูลมาวิเคราะห์หาปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมของระบบคลังโลหิตหาความสัมพันธ์ทางโครงสร้างของระบบแล้วจึงสร้างแบบจำลองพลวัตของระบบคลังโลหิต โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการเขียนแบบจำลองพลวัตของระบบ จะใช้โปรแกรม Vensim Professional Version และทำการวิเคราะห์พฤติกรรมของระบบคลังโลหิต โดยใช้กราฟแสดงความสัมพันธ์อธิบายผลกระทบจากการจัดหาโลหิตต่อคลังโลหิตในช่วงเดือนมกราคม พ.ศ.2544 ถึงเดือนธันวาคม พ.ศ.2545 ผลการวิจัยพบว่า แบบจำลองพลวัตของระบบคลังโลหิตที่สร้างขึ้นมา สามารถอธิบายพฤติกรรมของระบบคลังโลหิตและการจัดหาโลหิตได้ โดยจะพบว่าในช่วงเทศกาลปีใหม่ ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อน และช่วงปิดเทอมเดือนตุลาคม จะทำให้มีการจัดหาโลหิตได้ลดน้อยลงกว่าช่วงปกติ ส่งผลให้ปริมาณโลหิตในคลังโลหิตมีปริมาณที่ลดน้อยลง ในขณะที่มีปริมาณโลหิตที่ทางสถานพยาบาลทำการขอเบิกโลหิตมีปริมาณมาก ดังนั้น ใน ช่วงสัปดาห์เหล่านี้ จะส่งผลให้มีการขาดแคลนโลหิตเกิดขึ้น ในทางกลับ กัน ในช่วงเปิดเทอมต้น ช่วงเปิดเทอมปลาย และช่วงวันเฉลิมพระชนม์พรรษาฯ ในช่วงนี้จะส่งผลกระทบทำให้ปริมาณโลหิตในคลังมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น และหลังจากช่วงนี้ประมาณ 3 สัปดาห์ จะทำให้มีปริมาณโลหิตหมดอายุมากตามไปด้วย จากการวิเคราะห์ผลของแบบจำลองพลวัตของระบบคลังโลหิต พบว่าเมื่อมีการปรับปรุงระบบการเบิกและการจ่ายโลหิต และมีการจัดทำระบบการใช้ถุงบรรจุโลหิตที่รักษาอายุโลหิตได้ยาวนานกว่าเดิม จะส่งผลให้ปริมาณ โลหิตหมดอายุของหมู,โลหิตเอ บี โอ และเอบี มีเปอร์เซ็นต์ของปริมาณโลหิตหมดอายุที่ลดลงจากเดิมเป็นจำนวน 27.87%, 44.76%, 46.75% และ 19.14% ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายที่ต้องสูญเสียจากการจำหน่ายทิ้งโลหิตหมดอายุลดลงได้ และเมื่อปรับค่าจำนวนหน่วยเคลื่อนที่ให้เหมาะสม อัตราการขาดแคลนโลหิตก็จะลดน้อยลงด้วยเช่นกัน