Abstract:
การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพแบบปรากฏการณ์วิทยาการตีความตามแนวคิดของมาร์ติน ไฮเดกเกอร์ มีวัตถุประสงค์เพื่อบรรยายประสบการณ์ของผู้ดูแลหลักในการดูแลผู้ป่วยจิตเภทที่ไม่กลับป่วยซ้ำ ผู้ให้ข้อมูลจำนวน 11 คน โดยคัดเลือกผู้ให้ข้อมูลแบบเฉพาะเจาะจง เก็บรวบรวมข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึก การบันทึกเทปและนำข้อมูลมาถอดคำต่อคำ การสังเกต และการจดบันทึกในระหว่างการสัมภาษณ์ ร่วมกับวิเคราะห์เนื้อหาตามแบบวิธีการของแวน มาเนน ผลการศึกษาสามารถแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ การให้ความหมายของผู้ดูแลหลักในการดูแลผู้ป่วยจิตเภทที่ไม่กลับป่วยซ้ำ และประสบการณ์ของผู้ดูแลหลักในการดูแลผู้ป่วยจิตเภทที่ไม่กลับป่วยซ้ำ โดยการให้ความหมายของผู้ดูแลหลักในการดูแลผู้ป่วยจิตเภทที่ไม่กลับป่วยซ้ำ คือ การดูแลเอาใจใส่เพื่อไม่ให้กลับป่วยซ้ำ เกิดจากความรักใคร่ ห่วงใยและผูกพัน ผู้ป่วยคือคนสำคัญ มีคุณค่า และมีความหมายต่อผู้ดูแล พบ 2 ประเด็นย่อย คือ 1. การทำหน้าที่ด้วยความรักความห่วงใย 2. เกิดความผูกพันรักใคร่ในครอบครัว ส่วนประสบการณ์ของผู้ดูแลหลักในการดูแลผู้ป่วยจิตเภทที่ไม่กลับป่วยซ้ำ พบ 3 ประเด็นหลัก และ 6 ประเด็นย่อย ดังนี้ 1.การรับรู้ว่าผู้ป่วยผิดปกติและแสวงหาการรักษา 1.1) การรับรู้ว่าผู้ป่วยมีอาการผิดปกติ 1.2) แสวงหาการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วย 2. การทำใจยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น 2.1) หลากหลายความทุกข์ถาโถมเข้ามาในชีวิต 2.2) การทำใจยอมรับเพื่อตนเองและผู้ป่วย 3. การดูแลฟื้นฟู และป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยกลับป่วยซ้ำ 3.1) การทำหน้าที่ตอบสนองทางด้านร่างกาย จิตใจ และสังคมของผู้ป่วย 3.2) ให้ผู้ป่วยได้กลับมาประกอบอาชีพ และมีรายได้เป็นของตนเอง ผลการศึกษาครั้งนี้ทำให้เข้าใจประสบการณ์ของผู้ดูแลหลักในการดูแลผู้ป่วยจิตเภทที่ไม่กลับป่วยซ้ำ ตั้งแต่ผู้ป่วยจิตเภทเริ่มมีอาการทางจิต การดูแลฟื้นฟูเพื่อป้องกันการกลับป่วยซ้ำ และผลกระทบโดยตรงที่เกิดขึ้นกับผู้ดูแลหลัก เป็นแนวทางสำหรับพยาบาลและสหวิชาชีพ สามารถนำไปพัฒนาระบบการดูแลทั้งผู้ป่วยจิตเภทที่ไม่กลับป่วยซ้ำและผู้ดูแลหลักอย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสมเพื่อป้องกันการกลับป่วยซ้ำ