Abstract:
ผู้บริโภคกลุ่มแมสทีจ (Masstige Consumer) คือ กลุ่มผู้บริโภคที่อยู่กึ่งกลางระหว่างกลุ่มคนที่ต้องการสินค้าหรูหรา (Prestige) และสินค้าทั่วไป (Mass) กล่าวได้ว่า ผู้บริโภคกลุ่มแมสทีจ เป็นผู้บริโภคที่มีรสนิยมสูง แต่รายได้ไม่สูงเท่ากลุ่มผู้บริโภคชนชั้นสูง และยอมจ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้าดูดีมีระดับเพื่อแลกกับการได้ประสบการณ์ในการได้ใช้สินค้าหรู เป็นการตอบสนองความพึงพอใจด้านจิตใจ แม้จะเป็นหนี้จากการซื้อสินค้าหรือใช้บัตรเครดิต ซึ่งถือว่าคนกลุ่มนี้มีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และมีมูลค่าทางการตลาดที่นักการตลาดกำลังจับตามอง การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาและหาแนวทางในการสร้างแบรนด์สินค้าเปรียบเทียบซื้อสำหรับผู้บริโภคแมสทีจ 2) หาแนวทางการออกแบบเรขศิลป์เพื่อสร้างแบรนด์สินค้าเปรียบเทียบซื้อสำหรับผู้บริโภคแมสทีจ 3) ประยุกต์ใช้ผลการวิจัยสู่การออกแบบเรขศิลป์เพื่อสร้างแบรนด์สำหรับสินค้าไทยที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้บริโภคแมสทีจ การดำเนินการวิจัยใช้วิธีแบบผสมผสาน (Mixed Methodology) โดยนำด้วยการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ด้วยการเก็บข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดและแบรนด์ 15 คน ด้านการออกแบบเรขศิลป์ 15 คน ตามด้วยการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) ด้วยการเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้บริโภคที่เข้าข่ายผู้บริโภคแมสทีจ จำนวน 405 คน วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเบื้องต้น คิดเป็นร้อยละ (Percentage) แล้วทำการสรุปผลออกมาเป็นลำดับ ผลการวิเคราะห์ข้อมูลตามวัตถุประสงค์งานวิจัยพบว่า แนวทางในการสร้างแบรนด์สำหรับผู้บริโภคแมสทีจสามารถทำได้ 3 แนวทาง ดังนี้ แนวทางที่ 1) แบรนด์ที่มีลักษณะเฉพาะตน มีความเป็นตัวของตัวเองสูง นำเสนอความรู้สึกถึงความมีคุณสมบัติอันยอดเยี่ยม แนวทางที่ 2) แบรนด์ที่แสดงความมีสถานะ มีหน้ามีตาในสังคม ได้รับการยอมรับ มีสิทธิพิเศษที่เหนือกว่าคนทั่วไป และน่าเชื่อถือด้วยคุณสมบัติอันยอดเยี่ยม แนวทางที่ 3) แบรนด์ที่มอบความรู้สึกมีระดับ และคุณภาพที่ดีเหนือแบรนด์ทั่วไป รวมทั้งเป็นแบรนด์ที่มีสถานะมีหน้ามีตา เป็นที่ยอมรับในสังคม ซึ่งในงานวิจัยนี้ได้คำตอบถึงแนวทางในการออกแบบเรขศิลป์เพื่อสร้างแบรนด์สินค้าเปรียบเทียบซื้อสำหรับผู้บริโภคแมสทีจได้ทั้งหมด 3 แนวทาง และยังสามารถแบ่งลักษณะของผู้บริโภคแมสทีจได้ 3 กลุ่ม ตามลักษณะการดำเนินชีวิต และพฤติกรรมการบริโภคที่แตกต่างกัน โดยองค์ความรู้ที่ค้นพบนี้เป็นต่อยอดจากศาสตร์ทางด้านการตลาดไปสู่งานวิจัยทางด้านการออกแบบ ซึ่งปัจจุบันนั้นการออกแบบถือว่ามีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในโลกของการแข่งขันทางด้านการตลาด อีกทั้งเรื่องของผู้บริโภคแมสทีจเริ่มเป็นกลุ่มเป้าหมายที่เป็นกระแสหรือเทรนด์ที่นักการตลาดกำลังให้ความสนใจ