Abstract:
ซีเมนต์กรด-เบส มักทำให้เกิดการรั่วซึมระดับจุลภาคระหว่างผิวฟันและวัสดุบูรณะ ในขณะที่ซีเมนต์เรซินชนิดโฟร์เมตาเอ็มเอ็มเอทีบีบีสามารถป้องกันการรั่วซึมระดับจุลภาคบริเวณรอยต่อระหว่างผิวฟันและวัสดุบูรณะ การรั่วซึมระดับจุลภาคส่งผลต่อความแนบสนิทและการยึดอยู่ของวัสดุบูรณะ ซึ่งอาจส่งผลต่ออัตราการอยู่รอดและภาวะแทรกซ้อนของงานทันตกรรมประดิษฐ์ชนิดติดแน่นได้ งานวิจัยนี้ จึงเป็นการศึกษาย้อนหลังเพื่อดูผลของชนิดซีเมนต์ต่ออัตราการอยู่รอดและภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ ฟันผุ ฟันตาย และการหลุด ภายหลังการยึดครอบฟันและสะพานฟัน 5 ถึง 15 ปี ในการศึกษานี้แบ่งประเภทซีเมนต์เป็นสองกลุ่มคือ ซีเมนต์กรด-เบส (ซิงก์ฟอสเฟต ซิงก์โพลีคาร์บอกซีเลต หรือ กลาสไอโอโนเมอร์) และซีเมนต์เรซิน (โฟร์เมตาเอ็มเอ็มเอทีบีบี) เรียกผู้ป่วย 259 คนที่ใส่ครอบฟันหรือสะพานฟันอย่างน้อยหนึ่งซี่ในช่องปาก รวมฟันหลักทั้งหมด 1,161 ซี่ ซึ่งได้รับการรักษาจากนิสิตบัณฑิตศึกษา ภาควิชาทันต-กรรมประดิษฐ์ คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระหว่างปี พ.ศ. 2541 ถึง 2553 นำมาตรวจประเมินการอยู่รอด ซึ่งหมายถึงครอบฟันหรือสะพานฟันยังใช้งานได้ในช่องปาก ไม่ถูกถอนหรือทำครอบฟันหรือสะพานฟันใหม่ ตรวจและบันทึกภาวะแทรกซ้อน กรณีพบฟันผุ ฟันตาย หรือการหลุด วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติแคปลาน-ไมเยอร์ ตามด้วยสถิติล็อก-แรงค์ เพื่อเปรียบเทียบอัตราการอยู่รอดและภาวะแทรกซ้อนระหว่างซีเมนต์ แล้วทำการวิเคราะห์พหุปัจจัยโดยใช้สมการถดถอยค็อกซ์ ที่ระดับนัยสำคัญ 0.05 ผลการศึกษา พบอัตราการอยู่รอดของฟันหลักภายหลัง 5 ปี 10 ปีและที่เวลา 15 ปีเมื่อใช้ซีเมนต์กรด-เบสเท่ากับร้อยละ 93.2, 80.6 และ 67.4 ส่วนซีเมนต์เรซินชนิดโฟร์เมตาเอ็มเอ็มเอทีบีบีเท่ากับร้อยละ 95.2, 90.5 และ 90.5 ตามลำดับ ส่วนอัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อนฟันผุ ฟันตาย และการหลุด เมื่อใช้ซีเมนต์กรด-เบสเท่ากับร้อยละ 15.2, 7.1 และ 4.3 ส่วนซีเมนต์เรซินชนิดโฟร์เมตาเอ็มเอ็มเอทีบีบีเท่ากับร้อยละ 1.9, 4.3 และ 0.5 ตามลำดับ มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญของอัตราการอยุ่รอด (p=.007) ฟันผุ (p=.000) และครอบฟันหลุด (p=.025) เมื่อใช้ซีเมนต์ต่างชนิดกัน จากการวิเคราะห์หาค่าอัตราส่วนความเสี่ยงอันตราย (hazard ratio: HR) พบปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความล้มเหลวของฟันหลัก ได้แก่ ฟันหลักของสะพานฟัน (HR=1.813, 95%CI=1.313-2.503) การใช้ซีเมนต์กรด-เบส (HR=1.664, 95%CI=1.104-2.513) และฟันที่ผ่านการรักษารากฟัน (HR=1.511, 95%CI=1.097-2.081) ปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อการทำชิ้นงานทันตกรรมประดิษฐ์ใหม่ ได้แก่ ฟันกรามน้อย (HR=1.815, 95%CI=1.006-3.275) ฟันหลักของสะพานฟัน (HR=2.747, 95%CI=1.678-4.497) วัสดุเซรามิกล้วน (HR=11.024, 95%CI=2.457-49.464) และการใช้ซีเมนต์กรด-เบส (HR=2.950, 95%CI=1.410-6.173) ปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อการถอนฟัน ได้แก่ เพศชาย (HR=1.931, 95%CI=1.215-3.067) ฟันที่ผ่านการรักษารากฟัน (HR=2.213, 95%CI=1.371-3.571) และฟันที่เป็นหลักยึดของฟันเทียมถอดได้ (HR=2.232, 95%CI=1.332-3.739) ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่มีความสัมพันธ์กับภาวะแทรกซ้อนฟันผุ ได้แก่ คนไข้ช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไปในวันที่ยึดวัสดุบูรณะ (HR=1.883, 95%CI=1.220-2.906) ฟันหลักของสะพานฟัน (HR=1.701, 95%CI=1.104-2.621) ฟันคู่สบเป็นฟันเทียมถอดได้ (HR=1.875, 95%CI=1.212-2.902) และการใช้ซีเมนต์กรด-เบส (HR=3.333, 95%CI=1.610-6.900) ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่มีความสัมพันธ์ต่อภาวะแทรกซ้อนการหลุดของครอบฟันหรือสะพานฟัน ได้แก่ การใช้ซีเมนต์กรด-เบส (HR=4.444, 95%CI=1.056-18.868) และปัจจัยเสี่ยงที่มีความสัมพันธ์ต่อภาวะแทรกซ้อน ฟันตายต้องรักษารากฟัน ได้แก่ เพศหญิง (HR=2.521, 95%CI=1.158-5.490) สรุปผลการทดลอง ครอบฟันและสะพานฟันที่ยึดด้วยซีเมนต์เรซินชนิดโฟร์เมตาเอ็มเอ็มเอทีบีบี ให้การใช้งานที่ยาวนานกว่า และพบภาวะแทรกซ้อนน้อยกว่า โดยพบความล้มเหลว การทำชิ้นงานทันตกรรมประดิษฐ์ใหม่ ภาวะแทรกซ้อนฟันผุ และการหลุดของชิ้นงานทันตกรรมประดิษฐ์น้อยกว่าซีเมนต์กรด-เบส ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากซีเมนต์เรซินชนิดนี้สามารถสร้างรอยต่อที่ปราศจากการรั่วซึมระหว่างตัวฟันกับสิ่งประดิษฐ์ได้