Abstract:
วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับฟันผุด้านประชิด ในนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ในเขตอำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี วัสดุและวิธีการ งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาชนิดตัดขวางในนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จำนวน 133 คน อายุเฉลี่ย 16.86 ± 0.48 ปี ที่แปรงฟันด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ทุกเช้า การศึกษานี้ใช้ฟันผุด้านประชิดที่พบจากภาพรังสีชนิดกัดสบเป็นตัวแปรตาม เก็บข้อมูลความถี่ของการรับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของคาร์โบไฮเดรตระหว่างมื้อจากแบบบันทึกอาหาร 3 วัน ตรวจทางคลินิกเพื่อเก็บข้อมูลฟันผุ รอยฟันผุในระยะเริ่มต้น ดัชนีคราบจุลินทรีย์พีเอชพี และดัชนีการมีเลือดออกจากเหงือกด้วยการตรวจทางคลินิก สัมภาษณ์พฤติกรรมการแปรงฟันก่อนนอน ระดับการศึกษาของมารดา อายุ และเพศ นำข้อมูลมาวิเคราะห์ความสัมพันธ์โดยใช้สถิติถดถอยโลจิสติก ที่ระดับนัยสำคัญ 0.05 ผลการศึกษา กลุ่มตัวอย่างมีความชุกของฟันผุด้านประชิดร้อยละ 48.12 ผลการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ด้วยสถิติถดถอยโลจิสติก พบว่า ฟันผุด้านประชิดมีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติกับดัชนีคราบจุลินทรีย์พีเอชพี (p = 0.005, OR 2.57) และความถี่ของการรับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของคาร์โบไฮเดรตระหว่างมื้อ (p = 0.034, OR 1.52) ในทางตรงกันข้ามฟันผุด้านประชิดมีความสัมพันธ์ผกผันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติกับดัชนีการมีเลือดออกจากเหงือก (p = 0.018, OR 0.97) และระดับการศึกษาของมารดาที่ต่ำกว่ามัธยมศึกษาปีที่ 3 (p = 0.002, OR 0.24) ส่วนปัจจัยอื่นไม่มีความสัมพันธ์กับฟันผุด้านประชิดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ สรุป นักเรียนที่มีดัชนีคราบจุลินทรีย์พีเอชพีสูง หรือมีความถี่ของการรับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของคาร์โบไฮเดรตระหว่างมื้อสูง มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดฟันผุด้านประชิดสูง