Abstract:
วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์ที่จะศึกษาบทบาทของโขนภายใต้การเปลี่ยนสังคมการเมืองไทย ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงบทบาทไปในลักษณะต่าง ๆ โดยศึกษาว่ามีลักษณะใดบ้าง ใครเป็นผู้ดำเนินการเพื่อสร้างบทบาทใหม่ของโขนในแต่ละช่วงเวลา โดยศึกษาผ่านการวิเคราะห์โดยใช้แนวคิดการครองอำนาจนำผลจากการศึกษาพบว่า พัฒนาการและบทบาทของโขนที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงเวลาถูกกำหนดโดยชนชั้นปกครอง สะท้อนออกมาในรูปแบบของการใช้โขนเป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง โดยบทบาทของโขนในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์แรกเริ่มเป็นการละเล่นเพื่อแสดงถึงสถานะและความศักดิ์สิทธิ์ของพระมหากษัตริย์ ต่อมาบทบาทความศักดิ์สิทธิ์ถูกลดความสำคัญลงไป เหลือเพียงเป็นมหรสพการแสดงเพื่อแสดงศักดานุภาพของพระมหากษัตริย์และแสดงเพื่อความสำราญส่วนพระองค์ ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 สถานะของโขนถูกเปลี่ยนแปลงหน่วยงานผู้ดูแลจากโขนในราชสำนักมาสู่โขนของรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงครามได้สร้างบทบาทของโขนผูกกับความเป็นชาติ ต่อมา ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมชเป็นผู้พัฒนาให้เกาะเกี่ยวคุณค่าของความเป็นไทยและสถาบันกษัตริย์ ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของผู้ดำเนินการทั้งสิ้น ต่อมาเมื่อรัฐบาลเริ่มลดบทบาทการใช้โขนเป็นเครื่องมือทางการเมืองลง โขนจึงสามารถพัฒนาให้มีลักษณะเป็นมหรสพการแสดงเพื่อความบันเทิงสำหรับประชาชนอย่างแท้จริงในยุคสมัยนายเสรี หวังในธรรม ทำให้มีจำนวนผู้ชมเพิ่มมากขึ้นในช่วงเวลานี้ ซึ่งดำรงอยู่ได้ในระยะเวลาหนึ่ง และกลับมาประสบปัญหาความซบเซาในด้านจำนวนคนดูลงอีกครั้ง ต่อมากลุ่มสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นผู้ดำเนินการผลิตโขนของตนเอง ในนามโขนศาลาเฉลิมกรุงและโขนพระราชทาน ซึ่งมีลักษณะเกาะเกี่ยวคุณค่าและอุดมการณ์ของสถาบันพระมหากษัตริย์ และสามารถทำให้การแสดงโขนกลับมาเป็นกระแสของคนดูอีกครั้ง เป็นการเน้นการรับรู้ถึงคุณค่าของสถาบันพระมหากษัตริย์ในฐานะผู้อนุรักษ์งานศิลป์ของแผ่นดิน จะเห็นได้ว่ารูปแบบและวิธีการในการใช้โขนเป็นเครื่องมือทางการเมืองของชนชั้นปกครอง สะท้อนให้เห็นถึงการสร้างภาวะการครองอำนาจนำทางวัฒนธรรมของชนชั้นปกครอง เพื่อตอบสนองต่อผลประโยชน์ต่อตัวผู้กระทำการเอง และยังส่งผลให้โขนเปลี่ยนแปลงบทบาทในลักษณะต่าง ๆ