Abstract:
ริ้นฝอยทราย จัดเป็นแมลงดูดเลือดที่มีขนาดเล็ก อยู่ในวงศ์ Psychodidae อันดับ Diptera ซึ่งเป็นแมลงที่มีความสำคัญทางการแพทย์ เพราะเป็นพาหะนำโรคลิชมาเนีย ทั้งในมนุษย์และสัตว์ ในประเทศไทยมีรายงานการพบโรคลิชมาเนียและโรคทริพพาโนโซมในมนุษย์ แต่ข้อมูลของแมลงพาหะนำโรค ยังมีอยู่อย่างจำกัด งานวิจัยนี้ จึงได้ทำการศึกษาความชุกของเชื้อลิชมาเนียและเชื้อทริพพาโนโซม และความสัมพันธ์ของแมลงพาหะนำโรค ในพื้นที่ที่เป็นแหล่งระบาดของโรคลิชมาเนีย (จังหวัดสงขลา จังหวัดพัทลุง จังหวัดเชียงราย) และพื้นที่ที่ไม่ใช่แหล่งระบาดของโรคลิชมาเนีย (จังหวัดชุมพร) จำนวนทั้งหมด 500 ตัวอย่าง แบ่งออกเป็นตัวเมีย 276 ตัวอย่าง และตัวผู้ 224 ตัวอย่าง ทำการตรวจหาเชื้อลิชมาเนีย และเชื้อทริพพาโนโซม โดยใช้ตำแหน่งของยีน ITS1 และ SSU rRNA ตามลำดับ และระบุชนิดของริ้นฝอยทรายที่ตรวจพบเชื้อ ด้วยเทคนิคทางอณูชีววิทยาโดยใช้ตำแหน่งของยีน COI และ CytB ผลตรวจหาเชื้อลิชมาเนีย และทริพพาโนโซมในริ้นฝอยทราย พบว่า ริ้นฝอยทรายจากจังหวัดสงขลาจำนวน 180 ตัวอย่าง ตรวจพบเชื้อ L. martiniquensis 2 ตัวอย่าง (1.1%) และพบเชื้อ Trypanosoma sp. 4 ตัวอย่าง (2.8%) ในริ้นฝอยทราย Se. khawi ซึ่งในจำนวนนี้มีการตรวจพบ Co-infection ของเชื้อ L. martiniquensis และ Trypanosoma sp. ในริ้นฝอยทราย Se. khawi 1 ตัวอย่างด้วย ริ้นฝอยทรายจากจังหวัดพัทลุง จำนวน 136 ตัวอย่าง ตรวจพบ Trypanosoma sp. 2 ตัวอย่าง (1.5%) ในริ้นฝอยทราย Se. khawi และ Se. indica ริ้นฝอยทรายจากจังหวัดเชียงราย 61 ตัวอย่าง ตรวจพบเชื้อ Trypanosoma noyesi 1 ตัวอย่าง (1.6%) ในริ้นฝอยทราย Ph. teshi และริ้นฝอยทรายจากจังหวัดชุมพร จำนวน 123 ตัวอย่าง ตรวจพบเชื้อ Trypanosoma sp. 6 ตัวอย่าง และ T. noyesi 2 ตัวอย่าง (8.6%) ในริ้นฝอยทราย Se.anodontis, Ph. asperulus และ Ph. betisi ผลการตรวจหาเชื้อลิชมาเนีย และทริพพาโนโซมในครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า ไม่พบการติดเชื้อลิชมาเนีย และเชื้อทริพพาโนโซมในริ้นฝอยทรายเพศผู้เลย จากการศึกษาครั้งนี้ทำให้เข้าใจถึงความสัมพันธ์ของเชื้อลิชมาเนีย และเชื้อทริพพาโนโซม กับริ้นฝอยทรายแมลงพาหะนำโรคได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ในอนาคตต่อการป้องกัน และควบคุม แมลงพาหะนำโรคลิชมาเนีย และทริพพาโนโซมในประเทศไทยได้