Abstract:
ภาวะขมับตอบ คือภาวะที่เนื้อเยื่อบริเวณขมับสูญเสียปริมาตร ทำให้พื้นผิวบริเวณขมับซูบ เว้าลึกเข้าไป วิธีแก้ไขภาวะขมับตอบที่ได้รับความนิยมที่สุดคือการฉีดสารเติมเต็ม อย่างไรก็ตาม ตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา มีรายงานเกี่ยวกับภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น ภาวะตาบอด หรือ ภาวะ non-thrombotic pulmonary embolism ในคนไข้หลังจากได้รับการฉีดสารเติมเต็มเข้าสู่หลอดเลือดบริเวณขมับโดยไม่ได้ตั้งใจ ดังนั้น ข้อมูลทางกายวิภาคศาสตร์ของหลอดเลือดบริเวณขมับจึงมีความสำคัญอย่างมากในการหลีกเลี่ยงภาวะแทรกซ้อนจากการฉีดสารเติมเต็ม การศึกษานี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาตำแหน่งเส้นทาง ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง และความลึกจากผิวหนังของหลอดเลือดแดง frontal branch of superficial temporal artery (FbrSTA) รวมถึงแขนงย่อย หลอดเลือดดำ middle temporal vein (MTV) และหลอดเลือดแดง deep temporal artery (DTA) โดยใช้การ dissection การวัดด้วยเวอร์เนียร์คาลิปเปอร์ และการวัดความลึกด้วยการถ่ายภาพ 3 มิติ จากการศึกษาในร่างผู้บริจาคร่างกายจำนวน 60 ข้าง (เพศชาย 38 ข้าง และเพศหญิง 22 ข้าง) โดยกำหนดเส้นสมมติที่ลากจากหางตาไปยังจุดเกาะด้านบนของ helix (เส้นสมมติ Lc-H) เพื่อใช้เป็นตำแหน่งอ้างอิงในการวัดค่าต่าง ๆ พบว่าบริเวณ 2.5-3.0 ซม.เหนือส่วนหน้าของเส้นสมมติ Lc-H เป็นบริเวณที่อาจเกิดอันตรายต่อหลอดเลือด FbrSTA และบริเวณ 0.5-1.0 ซม. เหนือส่วนหน้าของเส้นสมมติ Lc-H เป็นบริเวณที่อาจเกิดอันตรายต่อหลอดเลือด MTV นอกจากนี้ ในการฉีดสารเติมเต็มชั้นลึก ควรหลีกเลี่ยงบริเวณ 1.0 ซม. ด้านหลัง frontal process เพื่อหลีกเลี่ยงเส้นทางของแขนงกลางของหลอดเลือด DTA ด้วย ข้อมูลทางกายวิภาคศาสตร์ทั้งหมดจากการศึกษานี้คาดว่าจะสามารถใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับผู้ทำหัตถการการฉีดสารเติมเต็มบริเวณขมับในการตัดสินใจขณะทำหัตถการณ์เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะแทรกซ้อนจากการฉีดสารเติมเต็ม