Abstract:
ศึกษาความเกี่ยวข้องกับการเมืองในสิ่งที่มีลักษณะปรากฏต่อการรับรู้โดยทั่วไปว่าปราศจากความเกี่ยวข้องกับการเมือง โดยพิจารณาที่ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของอาคารศาลากลาง โดยมีสมมติฐานว่าสถาปัตยกรรมของศาลากลางนั้นเป็นสัญลักษณ์ที่มีความหมายที่เชื่อมโยงอยู่กับสภาพที่ปรากฏอยู่จริงในสังคม และสร้างความชอบธรรมทางการเมืองให้แก่ผู้ที่ได้ครอบครอง จากการศึกษาโดยใช้การตีความผ่านแนวคิดเรื่องสัญลักษณ์ที่อิงอยู่กับกรอบเศรษฐกิจการเมืองและความชอบธรรมทางการเมืองนั้น ได้ผลของการตีความลักษณะทางสถาปัตยกรรมทั้งสี่ช่วงเวลาของศาลากลางดังนี้ 1. ศาลากลางช่วงแรกสื่อถึงความพยายามจากกษัตริย์สยามที่มุ่งจะสร้างความยอมรับในอำนาจแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ ไม่มีผู้ใดได้ครอบครองความหมายและความชอบธรรมทางการเมือง 2. ศาลากลางช่วงที่สองสื่อถึงผลสำเร็จในการรวมอำนาจสู่ศูนย์กลางของกษัตริย์ไทยที่มีกษัตริย์เป็นผู้ควบคุมอย่างแท้จริง โดยผ่านกระบวนการการนำเสนอนโยบายทางการเมือง กษัตริย์ไทยได้ครอบครองความหมายและความชอบธรรมทางการเมือง 3. ศาลากลางช่วงที่สามสื่อถึงผลสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงการปกครองและสร้างความเข้มแข็งให้กับอำนาจการเมืองการปกครองจากส่วนกลางที่มีที่มาจากอำนาจในการควบคุมกำลังในระบบราชการ ผู้ที่ได้รับความชอบธรรมทางการเมืองจะต้องเป็นผู้ที่มีอำนาจในระบบราชการ 4. ศาลากลางช่วงที่สี่สื่อถึงความชอบธรรมของระบบการเมืองที่ขึ้นอยู่กับที่มาของอำนาจทางการเมืองตามระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่เป็นจริงมากขึ้นในทางปฏิบัติ ผู้ที่จะมีความชอบธรรมทางการเมืองได้ต้องแสดงลักษณะที่ยอมรับต่อความหลากหลายในสังคม 5. ภาพรวมจากทุกช่วงเป็นระบบราชการไทยที่พยายามแสดงตนเป็นส่วนหนึ่งของความชอบธรรมทางการเมืองโดยปรับตัวตามกระแสทางการเมืองในสังคมที่เปลี่ยนไปในแต่ละช่วงเวลา