Abstract:
การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณนา ณ ฃ่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความชุกและปัจจัยที่เกี่ยวข้องของภาวะวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้าในผู้ที่มีข้อเข่าเสื่อม โดยเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อม ที่เข้ารับการรักษาที่แผนกผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี ใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบเลือกตามเกณฑ์ (Purposive sampling) จำนวน 343 คน เก็บข้อมูลระหว่างเดือน สิงหาคม – ตุลาคม พ.ศ.2562 เครื่องมือที่ใช้เก็บข้อมูลประกอบด้วย แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล แบบประเมินภาวะการติดการออกกำลังกาย (Exercise Addiction Inventory; EAI) ฉบับภาษาไทย แบบสอบถาม Hospital Anxiety and Depression Scale ฉบับภาษาไทย (Thai HADS) แบบสอบถามประเมินข้อเข่า Knee and Osteoarthritis Outcome Score (KOOS) วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตราฐาน จากนั้นหาความสัมพันธ์โดยใช้สถิติเชิงอนุมานได้แก่ Chi-square, Fisher’s exact test การวิเคราะห์สัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ใช้ Pearson’s correlation Coefficiency และใช้ Linear Regression วิเคราะห์ความสัมพันธ์ ผลการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมมีความชุกของภาวะวิตกกังวลเพียงอย่างเดียว คิดเป็นร้อยละ 13.1 ภาวะซึมเศร้าเพียงอย่างเดียว คิดเป็นร้อยละ 8.5 ภาวะวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้า คิดเป็นร้อยละ 26.8 ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับภาวะวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้าในผู้ที่มีข้อเข่าเสื่อม ได้แก่ อายุ ระดับการศึกษา โรคประจำตัว (โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคอื่น ๆ) ระดับอาการปวดทุกข์ทรมาน การรักษาข้อเข่าเสื่อมด้วยวิธีการทำกายภาพบำบัด การนวดแผนไทย พฤติกรรมการออกกำลังกาย ออกกำลังกายด้วยการเดิน การบริหารข้อเข่า การเต้นแอโรบิคแดนซ์ ปั่นจักรยาน การอบอุ่นร่างกายก่อนและหลังออกกำลังกาย ปัจจัยด้านความรุนแรงของข้อเข่า (ด้านอาการ ด้านอาการปวด ด้านกิจวัตรประจำวัน ด้านการเคลื่อนไหวในการออกกำลังกายและการทำกิจกรรมอื่น ๆ ด้านคุณภาพชีวิต)