Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเปรียบเทียบกลไกและสถาบันในการกำกับดูแลตลาดริมทางบนพื้นที่สาธารณะกรุงเทพมหานครที่ได้รับอิทธิพลจากการท่องเที่ยวจำนวน 2 พื้นที่ ได้แก่ ถนนข้าวสารและถนนเยาวราช เพื่อ (1) เปรียบเทียบปัจจัยที่ส่งผลต่อรูปแบบและผลลัพธ์ของการกำกับดูแลที่แตกต่างกัน (2) วิเคราะห์ผลลัพธ์ของการกำกับดูแลผ่านกรอบแนวคิดเรื่องความยุติธรรมและความเป็นธรรม และ (3) วิเคราะห์บทบาทของนโยบายและการบังคับใช้นโยบายที่ส่งผลต่อความเป็นธรรมในการกำกับดูแลตลาดริมทางบนพื้นที่สาธารณะ
การศึกษาใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพแบบทฤษฎีฐานราก การรวบรวมข้อมูลแบ่งเป็น 3 วิธี ได้แก่ การสังเกตการณ์แบบไม่มีส่วนร่วม การสัมภาษณ์เชิงลึก และการสืบค้นเอกสาร วิธีการหลักในการวิเคราะห์ข้อมูลคือการให้รหัส ซึ่งจะนำมาตรวจสอบสามเส้ากับข้อมูลการสำรวจและวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้พื้นที่เชิงกายภาพ การดำเนินการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเกิดขึ้นในระหว่างเดือนธันวาคม 2558 – กันยายน 2562
ผลการศึกษาสะท้อนว่าการกำกับดูแลพื้นที่สาธารณะบนถนนข้าวสารและเยาวราชล้วนสะท้อนปรากฎการณ์การทำให้พื้นที่สาธารณะเป็นสินค้าเอกชน ที่การกีดกันสิทธิในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์สามารถเกิดขึ้นได้ผ่านกลไก 3 ประเภท ได้แก่ ราคา อำนาจ และนโยบาย บทบาทหน้าที่ของทั้งสามกลไกกีดกัน ตลอดจนรูปแบบและผลลัพธ์ของการกำกับดูแลจะแตกต่างกันตามปัจจัย 2 ประการ คือ (1) บรรทัดฐานของสิทธิส่วนบุคคลบนพื้นที่สาธารณะ และ (2) โครงสร้างอำนาจของชุมชน การกำกับดูแลถนนข้าวสารมีรูปแบบแบบหุ้นส่วน ที่กลุ่มผลประโยชน์ซึ่งมีโครงสร้างอำนาจไม่แตกต่างกันสามารถมีส่วนร่วมในกระบวนการเจรจาต่อรองเพื่อพัฒนากลไกและสถาบัน ในขณะที่การกำกับดูแลบนถนนเยาวราชเป็นแบบกงสี ที่มีรัฐเป็นเถ้าแก่กงสีที่ทำหน้าที่กำหนดและบังคับใช้กฎกติกาเพื่อการจัดสรรสิทธิ กระจายผลประโยชน์ และและลดปัญหาขัดแย้ง ระดับการมีส่วนร่วมของสมาชิกชุมชนจึงถูกขีดกรอบไว้อย่างชัดเจน การกำกับดูแลพื้นที่สาธารณะทั้งสองรูปแบบนำไปสู่ผลลัพธ์และกระบวนการที่ขาดความเป็นธรรมในลักษณะที่แตกต่างกัน