Abstract:
ปัจจุบันในประเทศไทยได้มีการประยุกต์ใช้แบบจำลองสารสนเทศอาคาร (Building information modeling หรือ BIM) ทั้งในกระบวนการก่อสร้าง และบำรุงรักษาอาคารทำให้กระบวนการทำงานมีความซับซ้อนขึ้นแตกต่างจากวิธีการเดิม ผู้เกี่ยวข้องได้แก่ ผู้ว่าจ้าง ผู้ออกแบบ ผู้รับจ้างก่อสร้าง และที่ปรึกษาด้าน BIM จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนการทำงาน
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสถานการณ์ของแบบจำลองสารสนเทศอาคารก่อสร้างจริง (As-Built BIM) ในประเทศไทย ปัญหาและอุปสรรคในการจัดทำ โดยวิธีการดำเนินการวิจัยคือ กำหนดกรอบงานวิจัย ศึกษาแนวคิดและทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง เก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้องทั้ง 4 กลุ่ม ได้แก่ (1) กลุ่มผู้ว่าจ้างจำนวน 3 ท่าน (2) กลุ่มผู้ออกแบบจำนวน 1 ท่าน (3) กลุ่มผู้รับจ้างก่อสร้างจำนวน 4 ท่าน และ(4) กลุ่มที่ปรึกษาด้าน BIM จำนวน 6 ท่าน พบอาคารกรณีศึกษา 12 อาคาร
จากการศึกษาพบว่า สถานการณ์ของแบบจำลองสารสนเทศอาคารก่อสร้างจริง (As-Built BIM) ในประเทศไทย อาคารกรณีศึกษาที่มีการพัฒนามาถึง As-Built Model มาจากทั้งองค์กรรัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชน โดยองค์กรที่มีอาคารที่มีการพัฒนามาถึง As-Built Model มากที่สุด ได้แก่ องค์กรรัฐ องค์กรเอกชน และองค์กรรัฐวิสาหกิจตามลำดับ ประเภทอาคาร ได้แก่ โรงพยาบาล สำนักงาน อาคารเรียน ร้านค้า และอาคารอยู่อาศัยรวม ประเภทอาคารข้างต้นเป็นอาคารที่มีความซับซ้อน หรือมีความซ้ำของรูปแบบห้อง ขนาดอาคารเป็นอาคารขนาดใหญ่ตั้งแต่15,000 – 224,750 ตารางเมตร หรืออาคารขนาดเล็กที่มีการทำซ้ำเป็นจำนวนมาก มูลค่าโครงการเป็นโครงการที่มีมูลค่าสูงตั้งแต่ 324 – 12,500 ล้านบาท ลำดับของกลุ่มที่อยู่ในช่วงดำเนินการใช้ได้แก่ (1) กลุ่มผู้รับจ้างก่อสร้าง (2) กลุ่มผู้ออกแบบ และ (3) กลุ่มผู้ว่าจ้าง โดยวัตถุประสงค์ที่เหมือนกันของทั้ง 3 ผู้เกี่ยวข้องคือ ลดข้อผิดพลาดในการก่อสร้าง วัตถุประสงค์ที่เหมือนกันของผู้ออกแบบและผู้รับจ้างก่อสร้างคือเพื่อจัดส่งงานตามการบังคับใช้ของผู้ว่าจ้าง รายละเอียดของ As-built BIM ควรขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของผู้ว่าจ้างในการนำข้อมูลไปใช้งาน เรื่องวิธีการได้มาซึ่ง As-Built BIM มี 3 วิธี คือรวมในสัญญางานก่อสร้าง จัดจ้างเพิ่ม และอื่นๆ กระบวนการพัฒนา As-Built BIM ที่เกิดขึ้นใน 4 ช่วงการบริหารโครงการ มีลำดับดังนี้ (1) ช่วงหลังเปิดใช้อาคาร (2) ช่วงหลังก่อสร้าง (3) ช่วงก่อสร้าง และ (4) ช่วงก่อนก่อสร้าง เริ่มมีการใช้ BIM ในการประสานงานก่อสร้างทั้งในกลุ่มผู้ว่าจ้าง ผู้ออกแบบ และผู้รับจ้างก่อสร้าง As-Built Model เป็นเพียงข้อมูลตั้งต้นเพื่อบริหารทรัพยากรทางภายภาพเท่านั้น ผลการใช้งานตามวัตถุประสงค์พบว่ากลุ่มผู้ออกแบบ และกลุ่มผู้รับจ้างก่อสร้างได้ใช้ BIM ตามวัตถุประสงค์แล้ว ส่วนกลุ่มผู้ว่าจ้างบางองค์กรยังไม่ได้ใช้งานตามวัตถุประสงค์ โดยปัญหาและอุปสรรคที่สำคัญคือปัญหาด้านบุคลากร และปัญหาด้านกระบวนการ
ผลการศึกษานี้แสดงให้เห็นถึงสถานการณ์ของแบบจำลองสารสนเทศอาคารก่อสร้างจริง ในเรื่องกระบวนการ ปัญหาอุปสรรค และวิธีการแก้ไข นำไปสู่ความรู้ความเข้าใจในปัจจุบันเพื่อเป็นแนวทางในการจัดทำแบบจำลองสารสนเทศอาคารก่อสร้างจริงที่มีประสิทธิภาพในอนาคต