Abstract:
การศึกษาวิจัยเรื่อง "การตกเป็นเหยื่อการละเมิดทางทรัพย์สินของผู้สูงอายุจากบุคคลในครอบครัวหรือเครือญาติ ” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบการตกเป็นเหยื่อ ปัจจัยที่ส่งผลต่อการตกเป็นเหยื่อ และเพื่อศึกษาแนวทางการป้องกันการตกเป็นเหยื่อการละเมิดทางทรัพย์สินของผู้สูงอายุจากบุคคลในครอบครัวหรือเครือญาติ การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยใช้วิธีการเก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) โดยใช้วิธีการเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง จากการกำหนดคุณลักษณะของประชากรที่ใช้ในการศึกษาวิจัยและเก็บข้อมูลจากผู้ให้ข้อมูลสำคัญ 3 กลุ่ม ได้แก่ 1) ผู้สูงอายุที่ตกเป็นเหยื่อการละเมิดทางทรัพย์สินจากบุคคลในครอบครัวหรือเครือญาติ 2) สมาชิกในครอบครัวเดียวกันกับผู้สูงอายุหรือผู้ดูแลผู้สูงอายุที่ตกเป็นเหยื่อการละเมิดทางทรัพย์สินจากบุคคลในครอบครัวหรือเครือญาติ 3) บุคลากรในกระบวนการยุติธรรมและเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุที่ตกเป็นเหยื่อการละเมิดทางทรัพย์สินจากบุคคลในครอบครัวหรือเครือญาติ ผลการศึกษาพบว่ารูปแบบการละเมิดทางทรัพย์สินของผู้สูงอายุ มี 4 รูปแบบ ได้แก่ 1) การเอาทรัพย์สินไปจากผู้สูงอายุโดยใช้เอกสารหรือลายเซ็นต์ของผู้สูงอายุไปทำธุรกรรม 2) การละเมิดทางทรัพย์สินที่มีการทำร้ายร่างกายหรือจิตใจ หรือการปล่อยทิ้งผู้สูงอายุร่วมด้วย 3) การละเมิดเหยื่อที่มีลักษณะนิ่งเฉย 4) การเอาทรัพย์สินไปจากผู้สูงอายุโดยตรง เช่น การลักทรัพย์ บัตรเอทีเอ็ม เครื่องประดับ เป็นต้น ปัจจัยที่ส่งผลต่อการตกเป็นเหยื่อการละเมิดทางทรัพย์สินของผู้สูงอายุประกอบด้วย 6 ปัจจัย ได้แก่ 1) ความอ่อนแอทางร่างกายหรือจิตใจ 2) การรับรู้เกี่ยวกับการตกเป็นเหยื่อ 3) การขาดผู้ดูแลหรืออยู่คนเดียว 4) ความไว้วางใจยอมให้ผู้อื่นกระทำการแทน 5) กิจวัตรประจำวัน 6) ภาวะพึ่งพิง ข้อเสนอแนะจากการศึกษา ควรสร้างความตระหนักในปัญหาการละเมิดทางทรัพย์สินต่อผู้สูงอายุให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบกับหน่วยงานภาครัฐควรทำงานร่วมกับภาคประชาชนในการป้องกันการตกเป็นเหยื่อการละเมิดทางทรัพย์สินของผู้สูงอายุ อีกทั้งควรตรวจสอบการทำธุรกรรมที่ผู้สูงอายุมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน และควรปรับปรุงกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีด้านการละเมิดทางทรัพย์สินของผู้สูงอายุ