Abstract:
บทความนี้อภิปรายถึงสถานการณ์การขับเคลื่อนข้อกำหนดกรุงเทพด้านแม่และเด็กติดผู้ต้องขังในประเทศไทย ประเด็นด้านสุขภาพของแม่และเด็ก ด้านสิทธิของผู้ต้องขังแม่และเด็กและด้านการดูแลเด็ก โดยมีวัตถุประสงค์ในการศึกษาเพื่อศึกษาสถานการณ์ของการขับเคลื่อนข้อกำหนดกรุงเทพด้านแม่และเด็กติดผู้ต้องขัง สภาพปัญหา อุปสรรค และแนวทางในการเสนอแนะการขับเคลื่อนข้อกำหนดกรุงเทพด้านแม่และเด็กติดผู้ต้องขังในประทศไทย วิธีปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ที่เกี่ยวข้องเพื่อชี้ให้เห็นถึงสถานการณ์ของการขับเคลื่อนข้อกำหนดกรุงเทพด้านแม่และเด็กติดผู้ต้องขังพร้อมทั้งเสนอแนะแนวทางวิธีการปฏิบัติที่เหมาะสม การวิจัยนี้เน้นการศึกษาเอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง (Documentary research) โดยทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องแนวคิดทฤษฎี เอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับข้อกำหนดองค์กรสหประชาชาติและข้อกำหนดกรุงเทพว่าด้วยสุขภาพแม่และเด็กติดผู้ต้องขังหญิง การปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงและเด็กติดผู้ต้องขังในประเทศไทย มาตรฐานสากลเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิง แนวคิดความผูกพันทางสังคม (Social Bonding) แนวคิดการขัดเกลาทางสังคม (Socialization) ผลการศึกษาพบว่าผู้ต้องขังหญิงที่ตั้งครรภ์ ผู้ต้องขังหญิงที่มีลูกอ่อนและเด็กติดผู้ต้องขัง ยังมีปัญหาในหลากหลายรูปแบบแตกต่างกันไปตามลักษณะของเรือนจำและทัณฑสถานที่ผู้ต้องขังหญิงจองจำอยู่ในแต่ละจังหวัด เนื่องจากอุปสรรคอันเกิดจากงบประมาณรายปีที่อาจไม่เหมาะสมกับจำนวนผู้ต้องขังหญิงที่ตั้งครรภ์ ผู้ต้องขังหญิงที่มีลูกอ่อน และเด็กติดผู้ต้องขัง ปัญหาเรื่องสถานที่อภิบาลทารก ปัญหาสุขอนามัยของผู้ต้องขังหญิง การจัดการเรือนนอนของผู้ต้องขังหญิง สวัสดิการของผู้ต้องขังหญิงที่ตั้งครรภ์ ผู้ต้องขังหลังคลอดและเด็กติดผู้ต้องขัง การขาดแคลนเจ้าหน้าที่ด้านสังคมสงเคราะห์ ด้านจิตวิทยาและการเข้าถึงกุมารแพทย์และพยาบาลผดุงครรภ์ ขาดระบบฐานข้อมูลที่เชื่อมต่อกันระหว่างเรือนจำและทัณฑสถาน การประสานงานและทำงานร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับแม่และเด็กติดผู้ต้องขัง ยังไม่สามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดกรุงเทพได้อย่างสมบูรณ์ แม้จะมีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนจากข้อกำหนดกรุงเทพก็ตาม แต่ด้วยข้อจำกัดหลายประการแตกต่างกันไปตามขนาดของสถานที่และการบริหารจัดการของเจ้าหน้าที่ในแต่ละเรือนจำและทัณฑสถาน ทำให้ไม่สามารถขับเคลื่อนข้อกำหนดกรุงเทพด้านแม่และเด็กติดผู้ต้องขังได้อย่างเป็นรูปธรรม ผลการศึกษาในครั้งนี้สามารถนำไปใช้กำหนดนโยบาย เป็นแนวทางการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับแม่และเด็กติดผู้ต้องขัง เพื่อปรับปรุงและพัฒนาการขับเคลื่อนข้อกำหนดกรุงเทพด้านแม่และเด็กติดผู้ต้องขังในประเทศไทย