Abstract:
การศึกษาเรื่อง “การบังคับสูญหายในประเทศไทย: ประสบการณ์และมุมมองในเชิงกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมทางอาญา” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสบการณ์ในเชิงกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมทางอาญา รวมถึงมุมมองหรือทัศนคติของผู้ให้ข้อมูลสำคัญต่อปัญหาการบังคับสูญหายในประเทศไทย สำหรับการศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพด้วยเทคนิคการสัมภาษณ์เชิงลึก ซึ่งเป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลจากผู้ให้ข้อมูลสำคัญจำนวน 3 กลุ่ม ได้แก่ ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมาย และสมาชิกครอบครัวของผู้สูญหาย โดยผลการศึกษาพบว่า การบังคับสูญหายในประเทศไทยอยู่ในสภาวะที่ไม่มีบทกฎหมายฉบับใดกำหนดคำนิยามและกำหนดว่ามีความผิด จึงส่งผลให้เกิดปัญหาด้านบทบัญญัติทางกฎหมาย กล่าวคือสังคมไทยไม่เข้าใจถึงความหมายของการบังคับสูญหายอย่างถ่องแท้ และส่งผลให้การบังคับสูญหายไม่มีสถานะเป็นอาชญากรรม ดังนั้นจึงทำให้มีการนำกฎหมายอื่นที่ระบุถึงฐานความผิดที่เกี่ยวข้องซึ่งยังมีอัตราโทษที่ไม่เหมาะสมมาบังคับใช้แทน นอกจากนี้ยังส่งผลให้เกิดปัญหาทางด้านกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เช่น การสืบสวนสอบสวนที่ไม่น่าเชื่อถือ การที่ครอบครัวของผู้สูญหายไม่สามารถมีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรม หรือการช่วยเหลือเยียวยาที่ไม่มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนและเหมาะสมกับความเสียหายที่เกิดขึ้น ดังนั้น รัฐบาลจึงควรบังคับใช้กฎหมายสำหรับการบังคับสูญหายเป็นการเฉพาะ เพื่อทำให้เกิดกระบวนการแก้ไขปัญหาการบังคับสูญหายอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งกำหนดมาตรการอื่น เช่น การช่วยเหลือเยียวยาด้านการเงินแก่ครอบครัวผู้สูญหายในระหว่างการดำเนินคดี การจัดตั้งกลุ่ม/เครือข่ายสำหรับกรณีปัญหาการบังคับสูญหายโดยเฉพาะ เป็นต้น