Abstract:
วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์ที่จะศึกษาสภาพปัญหาการกระทำความรุนแรงในครอบครัว ในเขตกรุงเทพมหานคร รวมถึงศึกษาบทบาทหน้าที่ ขั้นตอนดำเนินการของพนักงานสอบสวนในกระบวนการไกล่เกลี่ยเหยื่อ-ผู้กระทำผิด ในคดีการกระทำความรุนแรงในครอบครัวและปัญหาที่เกิดขึ้นในการดำเนินกระบวนการดังกล่าว ตลอดจนศึกษามาตรการในการเยียวยาชดใช้ผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวที่เกิดขึ้นจากกระบวนการไกล่เกลี่ยเหยื่อ-ผู้กระทำผิด โดยวิทยานิพนธ์นี้เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพที่เก็บข้อมูลด้วยเทคนิคการวิจัยเอกสาร เทคนิคการสังเกตการณ์ และเทคนิคการสัมภาษณ์แบบเจาะลึกจากผู้ให้ข้อมูลสำคัญ ซึ่งผู้วิจัยได้เลือกวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบที่มีลักษณะเฉพาะเจาะจง รวมทั้งหมด 20 คน ผลการศึกษาพบว่า 1) สภาพปัญหาการกระทำความรุนแรงในครอบครัวในสังคมไทยมีจำนวนมากและมีแนวโน้มว่าจะมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นทุกปี โดยมีทั้งรูปแบบสามีทำร้ายภรรยา รูปแบบบิดามารดาหรือผู้ปกครองทำร้ายบุตรหลาน และรูปแบบบุตรหลานทำร้ายผู้สูงอายุ ซึ่งส่งผลกระทบทั้งระยะสั้นและระยะยาวต่อตัวผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวและสังคมประเทศชาติโดยรวม โดยมีสาเหตุมาจากรากเหง้ามายาคติชายเป็นใหญ่และสะท้อนออกมาสู่รูปแบบการทำร้ายบุคคลภายในครอบครัวที่มีอำนาจด้อยกว่า รวมถึงความกดดันทางสภาพเศรษฐกิจสังคมที่ยากจน และปัญหาการดื่มสุราหรือการเสพสารเสพติดเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดปัญหาการกระทำความรุนแรงในครอบครัวในสังคมไทย 2) พนักงานสอบสวนยึดบทบาทเป็นคนกลางเป็นหลักในกระบวนการไกล่เกลี่ยเหยื่อ-ผู้กระทำผิด ในการดำเนินการไกล่เกลี่ยปัญหาการกระทำความรุนแรงในครอบครัว โดยทำหน้าที่ประสานงานนัดหมายผู้เข้าร่วมกระบวนการ เป็นผู้ดำเนินการโดยเปิดโอกาสให้แต่ละฝ่ายกล่าวถึงปัญหาของตนเอง และเป็นผู้ช่วยเหลือแนะนำแนวทางในการแก้ไขปัญหารวมทั้งมาตรการในการเยียวยาชดใช้แก่ผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวอย่างเหมาะสมและยุติธรรม 3) ปัญหาหลักที่พบจากงานวิจัยนี้ คือ พนักงานสอบสวนยังขาดความรู้ในขั้นตอนการดำเนินกระบวนการไกล่เกลี่ยเหยื่อ-ผู้กระทำผิดตามหลักปฏิบัติที่ถูกต้อง ซึ่งเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อขั้นตอนกระบวนการที่เป็นสาเหตุให้ผลลัพธ์ของการไกล่เกลี่ยไม่สำเร็จ 4) การเยียวยาชดใช้ด้วยเงินให้แก่ผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวเป็นมาตรการเยียวยาชดใช้ที่เหมาะสมที่สุด แต่ควรมีการเยียวยาด้านสภาพจิตใจของผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวด้วย โดยวิทยานิพนธ์ฉบับนี้ได้ให้ข้อเสนอแนะอันเป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงขั้นตอนกระบวนการไกล่เกลี่ยเหยื่อ-ผู้กระทำผิดของพนักงานสอบสวน สำหรับการจัดการแก้ไขปัญหาการกระทำความรุนแรงในครอบครัวที่เหมาะสมกับบริบทของสังคมไทยจากประสบการณ์ของผู้ให้ข้อมูลสำคัญ