Abstract:
วิทยานิพนธ์เล่มนี้ศึกษาการประกอบสร้าง “ผู้หญิงในอุดมคติ” ของสิงคโปร์สมัยสร้างชาติระหว่างทศวรรษ 1950–1980 โดยรัฐบาลพรรคกิจประชาภายใต้การนำของลีกวนยู โดยจะวิเคราะห์จากนโยบายเรื่องผู้หญิง และการออกกฎหมายที่มีส่วนในกำหนดบทบาทหน้าที่ทางเพศสภาพของหญิงและชายในสิงคโปร์ รวมถึงการต่อรองระหว่างรัฐและผู้หญิงสิงคโปร์ในช่วงเวลาดังกล่าวที่กระแสสิทธิสตรีกำลังมีอิทธิพลและนำไปสู่การปรับเปลี่ยนอุดมคติรัฐเกี่ยวกับผู้หญิงของสิงคโปร์
วิทยานิพนธ์เล่มนี้จะชี้ให้เห็นว่าการจัดการความสัมพันธ์ทางเพศสภาพระหว่างชายหญิงในพื้นที่ครอบครัวเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างชาติสิงคโปร์ หลักจริยศาสตร์แบบขงจื๊อที่มีลักษณะแบบปิตาธิปไตยคือแนวคิดสำคัญที่รัฐบาลสิงคโปร์ใช้ในการกำหนดนโยบายเพศสภาพและดำเนินนโยบายเกี่ยวกับผู้หญิง ผู้หญิงถูกกำหนดให้แสดงบทบาทในฐานะแม่และเมีย ส่วนผู้ชายถูกคาดหมายให้ทำงานนอกบ้าน ทั้งนี้ ผู้หญิงในฐานะแม่และเมียตามอุดมคติรัฐในบริบทการสร้างชาติต้องมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์อย่างน้อย 3 ประการ ได้แก่ มีการศึกษาดี มีทักษะและความสามารถในการประกอบอาชีพเพื่อตอบสนองนโยบายเศรษฐกิจ และเป็นมารดาที่มีคุณภาพของเยาวชน อย่างไรก็ดี ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงทางสังคม โอกาสทางการศึกษาสำหรับผู้หญิงที่เพิ่มขึ้น และกระแสสิทธิสตรี อุดมคติรัฐเกี่ยวกับผู้หญิงที่ประกอบสร้างขึ้นโดยหลักจริยศาสตร์แบบขงจื๊อที่เป็นปิตาธิปไตยก็ได้ถูกต่อรองจากผู้หญิงสิงคโปร์ด้วย