Abstract:
ปอุมจริยะของวิมลสูริเป็นวรรณคดีเรื่องรามายณะที่เก่าแก่ที่สุดของศาสนาเชนและมีอิทธิพลต่อรามายณะฉบับของศาสนาเชนฉบับอื่นที่แต่งขึ้นภายหลัง วรรณคดีเรื่องรามายณะของศาสนาเชนจัดอยู่ในวรรณคดีเรื่องเล่าประเภทปุราณะหรือจริตะ มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับแนวคิดศลากาปุรุษะซึ่งเป็นแนวคิดเกี่ยวกับวีรบุรุษในศาสนาเชน วิทยานิพนธ์นี้มุ่งศึกษาลักษณะเด่นของตัวละครราวณะในเรื่องปอุมจริยะ ซึ่งเป็นตัวละครปรปักษ์ของเรื่อง และศึกษาความสัมพันธ์ของแนวคิดทางศาสนาเชนที่มีต่อตัวละครราวณะ
ผลการศึกษาพบว่าลักษณะเด่นของราวณะในปอุมจริยะแบ่งเป็น 4 ด้าน ได้แก่ ลักษณะเด่นด้านรูปลักษณ์, ลักษณะนิสัย, ลักษณะเด่นด้านความสามารถ และลักษณะเด่นด้านลบจากมุมมองของตัวละครอื่น ลักษณะเด่นเหล่านี้ของราวณะมีทั้งด้านดีและด้านร้าย สะท้อนมิติตัวละครที่เป็นมากกว่าตัวละครปรปักษ์ผู้ประพฤติแต่ความชั่ว แต่ยังมีลักษณะวีรบุรุษผู้ทรงคุณธรรมซึ่งสอดคล้องกับบทบาทของราวณะในฐานะเชนศาสนิกผู้มีความภักดีต่อพระชินะ
แนวคิดทางศาสนาเชนที่มีความสัมพันธ์ต่อตัวละครราวณะได้แก่แนวคิดทางจริยศาสตร์และแนวคิดเรื่องศลากาปุรุษะ กรอบแนวคิดทางจริยศาสตร์แบบเชนแสดงให้เห็นการสร้างตัวละครปรปักษ์ให้เป็นแบบอย่างของผู้ครองเรือนที่ไม่อาจรักษาอนุพรตไว้ได้อย่างสมบูรณ์ และท้ายสุดเมื่อสิ้นชีวิตต้องตกนรกเพราะกรรมที่ได้ทำไว้ ซึ่งเป็นภาพตรงกันข้ามกับตัวละครเอกคือพระรามผู้ประพฤติตามหลักศาสนาและตามหลักอหิงสา เมื่อถึงบั้นปลายของชีวิตก็ได้ออกบวชบำเพ็ญตบะจนบรรลุความหลุดพ้น ในขณะที่กรอบแนวคิดเรื่องศลากาปุรุษะมีอิทธิพลในการดัดแปลงบทบาทของตัวละครให้ต่างออกไปจากรามายณะฉบับของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ตามแนวคิดศลากาปุรุษะ ราวณะเป็นประติวาสุเทวะซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งกับพระลักษมณ์ผู้เป็นวาสุเทวะ ประติวาสุเทวะจะถูกวาสุเทวะสังหารด้วยจักรของตนเอง ส่วนพระรามเป็นพลเทวะผู้ประพฤติอหิงสาและจะบรรลุความหลุดพ้น ในขณะที่ทั้งวาสุเทวะและประติวาสุเทวะจะต้องตกนรกเพราะกรรมที่ได้กระทำไว้ จึงนับได้ว่ากรอบแนวคิดทั้งสองข้างต้นเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ปอุมจริยะเป็นรามายณะของศาสนาเชนอย่างแท้จริง