Abstract:
การศึกษานี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมในการอนุรักษ์และฟื้นฟูที่บริเวณเสาชิงช้าที่สอดคล้องกับการพัฒนาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ตามกรอบของโครงการกรุงรัตนโกสินทร์ จากการศึกษาและวิเคราะห์ในรายละเอียด โดยอาศัยวิธีการของการออกแบบชุมชนเมือง (Urban Design) พบว่า พื้นที่บริเวณเสาชิงช้าเป็นพื้นที่ที่ศักยภาพในการพัฒนาด้านต่าง ๆ สูง ทั้งยังเป็นพื้นที่ที่สามารถบรรเทาปัญหาที่จอดรถของกรุงรัตนโกสินทร์ได้ เนื่องจากสภาพของตัวพื้นที่เองประกอบกับความสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่เปรียบเสมือนศูนย์กลางกรุงรัตนโกสินทร์ในอดีต จึงได้ผลของพื้นที่ในอนาคตไว้โดยรวม คือ การเป็นจุดเริ่มต้นของการบอกเล่าให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับกรุงรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะในแง่ของความเป็นมาและวิถีชีวิตของคนในกรุงรัตนโกสินทร์ โดยเสนอการเปลี่ยนแปลงการใช้สอยของอาคารศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีแนวโน้มในการย้ายออกจากพื้นที่ตามนโยบายของกรุงรัตนโกสินทร์ มาเป็นอาคารที่ในการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชุมชนตัวอย่างเช่น ศูนย์ประวัติศาสตร์-วัฒนธรรม หรือพิพิธภัณฑ์ เป็นต้น การเสนอแนะแนวทาง ได้แสดงแนวความคิดในการประสานโครงการต่าง ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพื้นที่ในบริเวณ ตามโครงการกรุงรัตนโกสินทร์ ด้วยการเชื่อมโยงระบบการสัญจรที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ การปรับปรุงฟื้นฟูอาคารเดิมที่มีคุณค่าให้เหมาะสมกับความต้องการในปัจจุบัน และแนวทางการออกก่อสร้างอาคารใหม่ ที่ส่งเสริมให้พื้นที่มีเอกลักษณ์ที่ชัดเจนขึ้น ทั้งนี้ยังเสนอแนวความคิดในการออกแบบระบบพื้นที่เปิดโล่งสาธารณะให้มีประสิทธิภาพ การวางผังปรับปรุงชุมชนเดิมโดยรอบคุณภาพของภูมิทัศน์ในพื้นที่ รวมถึงการรักษาโครงสร้างเดิมของพื้นที่ที่มีความสำคัญไว้ ในการเสนอแนะแนวทางในการนำไปปฏิบัติ นอกจากจะเสนอแนวทางในการอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ให้กับกรุงเทพมหานคร เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรุงเทพมหานคร ในส่วนของภาคเอกชน จะมุ่งเน้นแนวทางสำหรับการใช้มาตรการด้านกฎหมายในลักษณะของข้อกำหนดชี้นำ (Guidelines) ที่เป็นแนวทางที่สอดคล้องกับนโยบายต่าง ๆ ที่มีอยู่ ดังนั้น จึงมีความเป็นจริงในการนำไปปฏิบัติสูง